วันที่ 8 กันยายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีการจัดงาน “เที่ยวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีทั่วไทย” โดยมี นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมงาน ณ มนตรีสตูดิโอ 101 ซอยโพธิ์แก้ว 3 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร
การดำเนินโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี (9 เส้นทาง 9 ตำนานมรดกวัฒนธรรมท่องเที่ยววิถีไทย) กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการ ใน 3 กิจกรรม ดังนี้ 1) ฝึกอบรมประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างคุณค่าและพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวOTOP นวัตวิถี เชิงสร้างสรรค์ จำนวน 1 รุ่น 76 จังหวัด 304 หมู่บ้าน/ชุมชน กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จำนวน 3 คนต่อ 1 หมู่บ้าน/ชุมชน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ จำนวน 1 คน ต่อ 1 หมู่บ้าน/ชุมชนรวมทั้งสิ้นจำนวน 1,216 คน ดำเนินการเมื่อวันที่ 19 – 20 สิงหาคม 2563 ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) 2) จัดแสดงชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี (9 เส้นทาง 9 ตำนานมรดกวัฒนธรรมท่องเที่ยววิถีไทย) จำนวน 50 ชุมชน 3) ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี (9 เส้นทาง 9 ตำนานมรดกวัฒนธรรมท่องเที่ยววิถีไทย) จำนวน 50 ชุมชน
ซึ่งการจัดกิจกรรมภายในงานวันนี้ ประกอบด้วย การจัดแสดงชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี (9 เส้นทาง 9 ตำนานมรดกวัฒนธรรมท่องเที่ยววิถีไทย) จำนวน 50 ชุมชน ผ่านระบบออนไลน์แบบเสมือนจริง Virtual Tour บนเว็ปไซต์ www.virtualotoptour.com ระหว่างวันที่ 11 – 19 กันยายน 2564 และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี รวมทั้งสิ้น 500 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย ประเภทอาหาร จำนวน 223 ผลิตภัณฑ์ ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย จำนวน 122 ผลิตภัณฑ์ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก จำนวน 135 ผลิตภัณฑ์ และประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 20 ผลิตภัณฑ์
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กล่าวว่า ประเทศไทยเรามีUnseen มีสิ่งที่ดีงาม มีภูมิประเทศที่สวยงาม มีศิลปวัฒนธรรม อาหารพื้นถิ่น และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์ ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง โดยได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการนำภูมิปัญญาของพี่น้องประชาชนมาเพิ่มมูลค่า พัฒนาผลิตภัณฑ์ เราช่วยกันสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชปณิธานเรื่องงานศิลปาชีพ มารวมกลุ่มโอทอป ซึ่งแต่เดิมนั้นมีการจัดงาน OTOP โดยให้ผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์มาจำหน่าย เห็นได้ชัดว่าการชวนคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ OTOP ได้ลงไปสัมผัสวิถีชุมชน สัมผัสอัตลักษณ์ของคนในชุมชน เป็นที่มาของ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งปัจจุบันมี 3,680 หมู่บ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนได้มีโอกาสได้ร่วมต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัสวิถีชุมชน สัมผัสประสบการณ์ด้านต่าง ๆ อาทิ ศิลปวัฒนธรรม อาหารพื้นถิ่นภูมิประเทศที่สวยงาม ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสได้ลองทำอาหาร ปักเสื้อ แกะสลัก ในชุมชนจริง ๆ ที่สำคัญคือคนในชุมชนไม่ต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ได้อยู่กับครอบครัว ทำให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ หลายกลุ่ม หลายอาชีพ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งในขณะนี้มีชุมชนท่องเที่ยวด่าวเด่น ร้อยละ 10 และมีชุมชนท่องเที่ยวดาวรุ่ง ร้อยละ 20 กรมการพัฒนาชุมชนเรามีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงโดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้การพัฒนาอาชีพ เป็นวิธีการที่เราเข้าไปส่งเสริมเพื่อที่จะให้เกิดการพัฒนาอาชีพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และทำให้การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการรวมกลุ่มสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน โดยกรมการพัฒนาชุมชนเราในส่วนของการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการใช้ศักยภาพของชุมชน และเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ และตอบสนองต่อนักท่องเที่ยวผู้สนใจที่จะศึกษาภูมิประเทศ ศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ กรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินการในเรื่องของหมู่บ้าน OTOP วัตวิถี เพื่อการท่องเที่ยว หรือหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว และก็โครงการท่องเที่ยว OTOP หมู่บ้านนวัตวิถี เพื่อส่งเสริมพัฒนาหมู่บ้านของเราให้ใช้ศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะรองรับให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้อย่างครบวงจร ทั้งเรื่องทักษะการบริหารจัดการของหมู่บ้านในด้านต่าง ๆ การจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวที่หลากหลายใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นของชุมชน นำมาสร้างมูลค่าและสร้างความคุ้มค่าผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชน เรามีเป้าหมายที่สำคัญที่จะดำเนินการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ให้เป็นทางเลือกที่เป็นเหมือนแหล่ง เหมือนสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่เราเรียกว่าไม่ใช่เมืองหลัก แต่เป็นการเชื่อมโยงต่อยอดเมืองท่องเที่ยวที่เป็นเมืองหลัก หรือชุมชนท่องเที่ยวที่เราเรียกว่าเป็นกระแสหลัก บางทีก็เรียกว่าเป็นแอ่งใหญ่ที่สามารถดึงดูดผู้คนให้มาสัมผัสเสน่ห์ของหมู่บ้านของชุมชนที่เป็นแอ่งเล็ก รวมถึงบูรณาการและดำเนินงานในรูปแบบประชารัฐ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชุมชนได้มีทักษะความเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรมโปรแกรมท่องเที่ยวที่หลากหลายการยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการด้านการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการกระจายรายได้ในชุมชน การหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศได้
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยทั้งระบบชะลอตัว จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประทศลดลงกว่าร้อยละ 90 รวมถึงแนวโน้มพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปกรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน จึงเตรียมจัดงานยิ่งใหญ่ที่สุดบนโลกออนไลน์ ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย กับการท่องเที่ยวบนโลกเสมือนจริงแบบ “Virtual Tour” ระหว่างวันที่ 11-19 กันยายน ศกนี้พร้อมร่วมชมแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมเก่าแก่ของประเทศไทย และลุ้นรับรางวัลใหญ่ตลอดการเข้าร่วมชมงาน
กรมการพัฒนาชุมชน ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น จึงได้จัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถี (9 เส้นทาง 9 ตำบลมรดกวัฒนธรรมท่องเที่ยววิถีไทย) ภายใต้แนวคิด “เปิดขุมทรัพย์ 9 เส้นทาง 9 ตำนาน มรดกวัฒนธรรมท่องเที่ยววิถีไทย” ในรูปแบบของการท่องเที่ยวเสมือนจริง (Virtual Tour) ที่ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ทั้ง ชม ชิล ช้อป แชร์ รวมถึงยังได้สัมผัสถึงเสน่ห์ของวิถีชุมชนทั้ง 9 เส้นทางตำนานมรดกวัฒนธรรม “อาจเรียกว่า เป็นอีกรูปแบบการท่องเที่ยวตามวิถีชีวิต New Normal ที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในชุมชน ไปพร้อม ๆ กับการสื่อสารสร้างการรับรู้ และสัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของชุมชน OTOP นวัตวิถี ขณะเดียวกัน ยังทำให้เกิดความพร้อมของชุมชน ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวตามชีวิตวิถีใหม่ และก่อให้เกิดการจับคู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ที่จะทำให้เกิดการ เกิดการจ้างงาน และการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ตลอดจน เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนท่องเที่ยวดาวเด่น (Attractive : A) และชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีประเภทชุมชนท่องเที่ยวดาวรุ่ง(Brighten Star: B) จำนวน 304 หมู่บ้าน ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ที่เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ ให้มีความมั่นคงมากขึ้น”
สำหรับความโดดเด่นของโครงการนี้ อยู่ที่การนำเอาวัฒนธรรมทั้ง 9 อารยธรรมบนผืนแผ่นดิน มาสร้างอัตลักษณ์ให้กับการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งได้แก่ อารยธรรมบ้านเชียง, อารยธรรมทวารวดี, อารยธรรมศรีโคตรบูรณ์–ล้านช้าง, อารยธรรมลพบุรี, อารยธรรมศรีวิชัย, อารยธรรมล้านนา, อารยธรรมสุโขทัย, อารยธรรมอยุธยา, และอารยุธรรมธนบุรี–รัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่ละอารยธรรม ต่างมีความโดดเด่นด้านวิถีชีวิต ตามภูมิภาคและ กาลเวลา รวมถึงยังปรากฏร่องรอยวัฒนธรรมและการสืบสานวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง จนส่วนหนึ่งได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ทรงคุณค่ากว่า 158,963 ผลิตภัณฑ์ ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวและผู้สนใจ สามารถร่วมท่องเที่ยวได้ที่ www.virtualotoptour.com ระหว่างวันที่ 11-19 กันยายน 2564 ตั้งแต่ 09.00 – 21.00 น. ซึ่งนอกจากจะได้เพลิดเพลินกับการเที่ยวชุมชนท่องเที่ยว OTOP ทั้ง 9 เส้นทางแล้ว ผู้เข้าชมยังมีสิทธิ์ลุ้นรับ “สร้อยคอทองคำ” จำนวน 3 เส้นต่อวัน และลุ้นรับรางวัลใหญ่ “ทองคำแท่งหนัก 1 บาท” อีกด้วย