วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นายภคิน ศรีวงศ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน) กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ประสานความร่วมมือกับนายอัมพร วาภพ ผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิดระดับจังหวัด จังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านหนองเอาะ–หนองสิม หมู่ที่ 13 และ 14 ตำบลเกษม อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับรางวัลโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีประจำปี พ.ศ.2554
สำหรับ บ้านหนองเอาะ–หนองสิม เป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นหมู่บ้านแฝดอยู่ชิดติดกัน อาชีพหลักของชาวบ้านคือการทำนา ทำสวน และค้าขาย โดยทั้งสองหมู่บ้านได้ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ เช่น ปลูกผักสวนครัว พืชสมุนไพรพื้นบ้าน ลดละเลิกอบายมุข การสร้างกลุ่มอาชีพ เช่น เพาะเห็ด เลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ แปรรูปอาหาร ตัดเย็บเสื้อผ้า ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม นอกจากนี้ ยังมีให้บริการโฮมสเตย์แก่นักท่องเที่ยว และมีกิจกรรมชุมท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีที่หลากหลาย เช่น การต้อนรับคล้องพวงมาลัย แห่กลองยาว อาหารพาแลง บายศรีสู่ขวัญ การแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน ฐานการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ทำบุญตักบาตรข้าวเหนียวและมีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นภายในชุมชน ได้แก่ ผ้าฝ้ายขิด หมอนฟักทอง พืชผักปลอดสารพิษ ในพื้นที่ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ นอกจากนั้น ยังมีเมนูอาหารพื้นถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน และผลิตภัณฑ์เด่นที่เป็นผลผลิตจากโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีกรมการพัฒนาชุมชน ได้แก่ ข้าวต้มมัดใจ ผักดองปึ๋งปั๋ง แหนมหมูคั่วสมุนไพร แหนมเห็ด เห็ดคลุกเกลือ น้ำพริกบักสัง มาลัยกร ขันบักเบง หมอนน้อยร้อยรัก แชมพูสมุนไพรตลอดจนฐานการเรียนรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.”
ในส่วนของกิจกรรมครั้งนี้ ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านหนองเอาะ–หนองสิม ได้นำคณะจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานีเยี่ยมชมและแนะนำฐานการเรียนรู้ต่างๆ ในหมู่บ้าน โดยเฉพาะโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลงครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) นางฉวี อยู่เย็น บ้านหนองเอาะ หมู่ที่ 13 ตำบลเกษม อำเภอตระการพืชผลพื้นที่ 3 ไร่ ซึ่งเป็น 1 ในฐานการเรียนรู้ที่อยู่ติดกับศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บ้านหนองเอาะ–หนองสิม ร่วมกับผู้นำชุมชน และบุตรหลาน ถือเป็นการปลูกฝังให้คนในชุมชนและเยาวชน ได้เรียนรู้การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งตนเองในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
โอกาสนี้ นายอัมพร วาภพ ผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิดระดับจังหวัด จังหวัดอุบลราชธานีได้ให้คำแนะนำในการขับเคลื่อนแปลง “โคก หนอง นา พช.” แห่งนี้ว่า “สำหรับบ้านหนองเอาะ–หนองสิม ถือเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียง และเป็นต้นแบบของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากพี่น้องในหมู่บ้านมีความรักสามัคคีกันเป็นอย่างดียิ่ง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสมในการเป็นแหล่งเรียนรู้ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและธนาคารเมล็ดพันธุ์ผัก เพื่อแบ่งปันพี่น้องประชาชน จึงควรพัฒนาแปลง “โคก หนอง นา พช.” แห่งนี้ โดยปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร เพื่อเป็นแหล่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างวัฒนธรรมในการแบ่งปัน เป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ผัก และครัวชุมชน เมื่อเหลือเก็บก็แบ่งปันให้กับพี่น้องและเพื่อนบ้าน ถือเป็นสังคมแห่งความช่วยเหลือเกื้อกูลและพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน” นายอัมพร กล่าวด้วยความมุ่งมั่น
ด้าน นายภคิน ศรีวงศ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน) ผู้แทนพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยว่า “บ้านหนองเอาะ–หนองสิม ถือเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่มีชื่อเสียงและมีฐานการเรียนรู้ที่หลากหลาย อีกทั้งในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 นี้ ยังได้รับงบประมาณดำเนินการโครงการฯ ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน และหลักกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อพัฒนาพื้นที่ต้นแบบประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่และปลูกพืชสมุนไพรที่ช่วยป้องกันบรรเทาโรคโควิด-19 ตลอดจนปรับพื้นที่และภูมิทัศน์เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็น “ครัวชุมชน” ที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ร่วมกันต่อไปในอนาคต”
ขณะที่ นางฉวี อยู่เย็น เจ้าของแปลง ได้เปิดเผยความรู้สึกกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฯ ว่า “ขอบคุณรัฐบาล กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ส่วนราชการ ตลอดจนนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และผู้นำจิตอาสาทุกท่าน ที่ได้ช่วยเหลือสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก ตนรู้สึกดีใจและมีความสุขมากได้ที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยทราบข่าวการรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอตระการพืชผล จนได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมตลอดระยะเวลา 4 วัน 5 คืน และขุดปรับพื้นที่แปลงตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชนและหลักกสิกรรมธรรมชาติ เสร็จสิ้นตามแบบที่กำหนดและขุดสระเพื่อเก็บน้ำจะทำให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงทางอาหาร ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้ง ที่ช่วยเหลือและสนับสนุนพี่น้องประชาชนในยามที่กำลังประสบปัญหาจากภัยโควิด-19 ให้สามารถพึ่งตนเอง เลี้ยงชีพและลดการพึ่งพาจากภายนอก ในอนาคตตนจะมุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่ให้ผู้อื่นได้มาเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นครัวของชุมชนที่จะแบ่งปันความรู้และผลผลิตในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นต่อไป” นางฉวี กล่าวด้วยความสุขและภาคภูมิใจ