วันที่ 2 กันยายน 2564 ภายใต้การอำนวยการของ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดยนางคำประไพ รักษาขันธ์ พัฒนาการอำเภอตระการพืชผล พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) อำเภอตระการพืชผล ดำเนินการติดตามสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา กรมการพัฒนาชุมชน” ในพื้นที่อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินกู้รัฐบาล ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จำนวน 576,592,500 บาทโดยมีพื้นที่เป้าหมายทั้งสิ้น 3,960 แห่ง โดยเเบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) : 68 แห่งเเละพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 3,892 แห่ง เเละโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 791 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 620 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 171 แห่งถือว่าได้รับการสนับสนุน งบประมาณดำเนินโครงการฯ มากที่สุดในประเทศไทย จนได้รับการขนานนาม จากท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ว่าเป็น“อาณาจักร โคก หนอง นา” หรือ “มหานครแห่ง โคก หนอง นา” ในส่วนของอำเภอตระการพืชผล นั้น ก็ถือเป็นอำเภอที่มีเป้าหมายดำเนินโครงการฯ มากที่สุดในประเทศไทย เช่นเดียวกัน ประกอบด้วย โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 พื้นที่ 1 ไร่ 51 แปลง และพื้นที่ 1 ไร่ 18 แปลง รวมทั้งสิ้น69 แปลง โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลง CLM ขนาดพื้นที่ 15 ไร่ 13 แปลง / HLM ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ 560 แปลง และขนาด 3 ไร่ 617 แปลง รวม 1,190 แปลง มีนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ทั้งสิ้น 150 คน
สำหรับการลงพื้นที่ของคณะฯ ในครั้งนี้ ได้ร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี กับผู้นำชุมชนและครัวเรือนตัวอย่าง ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ และแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ “โคก หนอง นา พช.” ประกอบด้วย พื้นที่ตำบลเกษม เเปลง HLM นาง ทา บุดดาพันธ์ พื้นที่ 1 ไร่, พื้นที่ตำบลขามเปี้ย แปลง นายอัครพงษ์ทันธิมา พื้นที่ CLM 15 ไร่, พื้นที่ตำบลคอนสาย, แปลง นายอัครพงษ์ ทันธิมา พื้นที่ CLM 15 ไร่, พื้นที่ตำบลนาสะไม แปลง น.ส.บุญธิดา บุญสุข พื้นที่ CLM 15 ไร่, พื้นที่ตำบลโนนกุง แปลง CLM 15 ไร่, พื้นที่ตำบลกระเดียน แปลง CLM 15 ไร่ และพื้นที่ตำบลไหล่ทุ่ง แปลง HLM 1 ไร่ โดยมีกิจกรรม ได้แก่ ปรับภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้ 5 ระดับปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร ห่มดินด้วยฟางข้าว ทำน้ำหมักจุลินทรีย์ และสร้างฐานการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน ในโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่“โคก หนอง นา พช.” ที่แสดงให้เห็นถึงการร่วมแรงร่วมใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตามวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเดิมที่พบในทุกพื้นที่ เป็นกระบวนการทำงานเพื่อขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ เพื่อนำเอาวิถีชีวิตดั้งเดิม วัฒนธรรมอันดีของคนไทยย้อนกลับมาปฏิบัติ ให้เกิดการปฏิบัติตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ รวมถึงสร้างความเป็นจิตอาสาพัฒนาชุมชน ให้เครือข่ายที่มีพลังและความสามัคคีและอยู่ดีมีสุข
โอกาสนี้ นางคำประไพ รักษาขันธ์ พัฒนาการอำเภอตระการพืชผล ได้ให้คำแนะนำแก่คณะติดตามและสนับสนุนในการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการฯ ว่า “โครงการนี้ ถือเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สร้างทางรอดจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้คนในชุมชนสามารถพึ่งตนเอง โดยน้อมนำแนวพระราชดำริหลักทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 สืบสาน รักษา ต่อยอดมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ขอฝากให้ทุกท่านได้ร่วมกันปลูกพืชผักสมุนไพร เพื่อป้องกันและบรรเทาโรคโควิด-19 ในแปลงโคก หนอง นา ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน เช่น กระเพรา พริก โหระพา กระชายขาว กระชายดำ มะนาว เป็นต้น”
นางคำประไพ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ขอให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต เป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซึ่งวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีนั้น ถือเป็นวันดินโลก (World Soil Day) เป็นวันสำคัญที่นักปฐพีวิทยาทั่วโลกแลชาวไทยภาคภูมิใจ เนื่องจากวันที่ 5 ธันวาคม นั้น ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กิจกรรมในครั้งนี้ จึงถือเป็นการเชิดชูพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรดินขององค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วย” นางคำประไพกล่าวปิดท้าย