ทีมวิจัยคณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฏนครปฐม ลงพื้นที่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ส่งเสริมการตลาดผักปลอดภัยจังหวัดนครปฐม

ทีมวิจัยคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ลงพื้นที่จัดประชุมถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก แผนงานวิจัยเรื่อง การยกระดับรายได้เกษตรกรทันสมัยผ่านการจัดการการตลาดผักปลอดภัยจังหวัดนครปฐม ไร่รัชยา .เมือง .นครปฐม เมื่อเร็วๆ นี้พร้อมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะสู่การปฏิบัติ โดยมีเกษตรจังหวัดนครปฐม  เกษตรอำเภอ และเกษตรกรทันสมัยจังหวัดนครปฐมเข้าร่วมประชุมและรับชมการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจนครปฐมพืชผักปลอดภัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา แสงดวงดี สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม หัวหน้าแผนงานวิจัย นำทีมวิจัยและคณาจารย์คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ได้แก่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เยาวภา บัวเวช  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกพัชร กอประเสริฐผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพล สุขเจริญพงษ์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดช ธรรมศิริ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กสมล ชนะสุข อาจารย์ ดร.ศานติ ดิฐสถาพรเจริญ อาจารย์ศิริอร สนองค์อาจารย์ ดร.วิศิษฐ์ ฤทธิบุญไชย อาจารย์ ดร.วิเชษฐ์ แสงดวงดี อาจารย์ทิวาพร ทราบเมืองปัก และอาจารย์วินัย บุญคง นำเสนอผลการศึกษาจากโครงการวิจัยย่อย 5 เรื่องได้แก่ 1)พฤติกรรมผู้บริโภคและปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าผักปลอดภัยผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการตลาดหลากช่องทาง 2) การพัฒนาระบบการจัดส่งผักปลอดภัยของกลุ่มเกษตรกรทันสมัยจังหวัดนครปฐม 3) การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับผักปลอดภัยในกลุ่มเกษตรกรทันสมัยจังหวัดนครปฐม 4) การพัฒนาช่องทางการตลาดแบบออฟไลน์ และออนไลน์สำหรับผักปลอดภัยในกลุ่มเกษตรกรทันสมัยจังหวัดนครปฐม และ 5) การส่งเสริมการตลาดผักปลอดภัยของกลุ่มเกษตรกรทันสมัยจังหวัดนครปฐมผ่านกลยุทธ์สื่อประชาสัมพันธ์การตลาดเชิงรุกแบบมีส่วนร่วม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา แสงดวงดี หัวหน้าแผนงานวิจัย กล่าวว่า แผนงานวิจัยมีที่มาจากการความต้องการของเกษตรกรทันสมัยจังหวัดนครปฐมในการพัฒนาการจัดการการตลาดผักปลอดภัยที่ผสมผสานทั้งสื่อออฟไลน์และออนไลน์หลากหลากช่องทาง ด้วยความเข้าใจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค การมีระบบการจัดส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภครองรับการเติบโตของการตลาดออนไลน์ การมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค การมีช่องทางใหม่ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ที่เข้าถึงผู้บริโภคสำหรับการติดต่อสั่งซื้อได้สะดวก และการมีกลยุทธ์สื่อประชาสัมพันธ์การตลาดตราสินค้านครปฐมพืชผักปลอดภัยที่สะท้อนอัตลักษณ์และจุดยืนตราสินค้าที่เน้นคุณภาพสินค้าที่เชื่อถือได้ และมุ่งประโยชน์ส่วนรวมด้วยการขับเคลื่อนกระแสการบริโภคสินค้าผักอินทรีย์ผักปลอดภัยและสังคมอินทรีย์ ตอกย้ำแนวคิด 4 ดี ได้แก่ ดีต่อสุขภาพตนเองและครอบครัว ดีต่อเกษตรกร ดีต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสังคม ซึ่งเป็นที่มาของสโลแกน  “ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพซึ่งแผนงานวิจัยได้นำระเบียบวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการมาใช้โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับเกษตรกรทันสมัยจังหวัดนครปฐม บุคลากรภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภค เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้และนวัตกรรมการจัดการการตลาดผักปลอดภัยที่สามารถแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีประสิทธิและประสิทธิผลสำหรับนำไปใช้ได้จริงตามความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง

หัวหน้าแผนงานวิจัยกล่าวต่อว่า องค์ความรู้ที่ได้ทำให้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการนำไปใช้ประโยชน์สาธารณะเพื่อขับเคลื่อนการตลาดสินค้าผักอินทรีย์ และผักปลอดภัยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับชาติและระดับพื้นที่ ระดับชาติ ได้แก่ 1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทบทวนนโยบายและมาตรการที่สนับสนุนการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรปลอดภัยระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด การสนับสนุนทุนวิจัยด้านเกษตรปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำเกษตรแนวใหม่ ระบบการขนส่งและศูนย์กระจายสินค้าที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบจากระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด 2) กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมควรมีนโยบายกำหนดให้หลักสูตรทุกระดับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษางระดับอุดมศึกษา มีรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการบริโภค และขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์เชื่อมโยงกับสินค้าเกษตรปลอดภัย เพื่อสร้างการรับรู้ ทัศคติและพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องเพื่อการขยายผลการทำเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรปลอดภัย 3) กระทรวงพาณิชย์ ควรมีนโยบายสนับสนุนตลาดกลาง แหล่งจำหน่ายเฉพาะ ศูนย์รวมผลผลิตและจำหน่ายเกษตรปลอดภัยแบบครบวงจรระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับภูมิภาคที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันควบคู่กับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดด้วยการโฆษณา การประขาสัมพันธ์การตลาด การส่งเสริมการขายสินค้าผักอินทรีย์ ผักปลอดภัย และสินค้าเกษตรปลอดภัยผ่านช่องทางการตลาดออฟไลน์ ออนไลน์ ที่เป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง

ส่วนระดับพื้นที่ ได้แก่ 1) สำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐมและจังหวัดอื่น ควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อระบบเกษตรปลอดภัย ด้านบุคลากรด้วยการพัฒนาเกษตรกร การรวมกลุ่มเกษตรกรทั้งแบบเป็นทางการ และแบบไม่เป็นทางการเพื่อให้ความรู้กับกลุ่มดังกล่าวเกี่ยวกับการผลิต การตลาด การสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmers) หรือทายาทเกษตรกรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต การจัดการผลผลิต การตลาด เพื่อสร้างผู้ประกอบธุรกิจเกษตรที่มีกระบวนทัศน์ ทัศนคติ ปรับตัวเรียนรู้และพัฒนาตนเองทักษะการจัดการตลาดผักปลอดภัยผ่านช่องทางออนไลน์ หรืออื่นๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและการตลาดได้ทันท่วงที และด้านการจัดการ ด้วยการพัฒนาระบบการจัดการตลาดผักปลอดภัย(ตลอดโซ่) ตั้งแต่ใช้การตลาดนำการผลิต การทำตลาด การเชื่อมโยงการทำตลาดตลาดและสร้างเครือข่ายการตลาดกับภาคเอกชน การหาคำสั่งซื้อ การรวบรวม การจัดส่ง การส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างแหล่งเรียนรู้แบบครบวงจรด้านเกษตรปลอดภัยทุกตำบล โดยทำงานเชื่อมโยงกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัด สถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการในพื้นที่ในการจัดพื้นที่สำหรับทำตลาดกลางสินค้าเกษตรปลอดภัยเป็นแหล่งรวบรวม จัดเก็บและกระจาย จำหน่ายสินค้า ตลาดเฉพาะหรือตลาดนัดชุมชนให้กระจายและเข้าถึงผู้บริโภคในจังหวัด มีนโยบายให้ร้านค้าหรือร้านจำหน่ายอาหารในหน่วยงานและในพื้นที่สั่งซื้อผลผลิตผักอินทรีย์ ผักปลอดภัยจากเกษตรกรทันสมัยจังหวัดนครปฐม และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผลผลิตผักอินทรีย์ ผักปลอดภัยและสินค้าแปรรูปเกษตรปลอดภัยภายใต้ตราสินค้านครปฐมพืชผักปลอดภัย

นายศิริชัย เลี้ยงอำนวย เกษตรจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ผลการศึกษาของทีมวิจัยทำให้นวัตกรรมการจัดการตลาดเพื่อขับเคลื่อนสินค้าผักปลอดภัยจังหวัดนครปฐมที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยให้ข้อเสนอแนะต่อการต่อยอดการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับให้สามารถระบุข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นทำการเกษตรแต่ละขั้นตอนจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตผักอินทรีย์ ผักปลอดภัยอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานสินค้ามากขึ้น ในขณะที่เกษตรกรทันสมัยจังหวัดนครปฐมก็สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการยื่นขอจดใบรับรองมาตรฐานสินค้าอินทรีย์หรือสินค้าผักปลอดภัยตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีได้ โดยไม่ต้องบันทึกข้อมูลด้วยมือซึ่งอาจไม่ครบถ้วน และยากต่อการนำมาประมวลผลเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการผลิตและการตลาดในอนาคต

#www.npru.ac.th #ดีต่อใจดีต่อสุขภาพ

Related posts