วันที่ 23 เมษายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รศ.วรวรรณโรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชษฐ์ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายรักษ์เผ่า พลรัตน์ ที่ปรึกษาชมรมโคกหนองนา วิศวะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายอาทร พิมชะนก ผู้ตรวจราชการกรม (พช.) และคณะผู้บริหาร ข้าราชการ กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมด้วยคณาจารย์มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ลงพื้นที่ตรวจติดตามพื้นที่หมู่บ้านครัวเรือนเป้าหมายตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมี นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม นางชยาณี มัจฉาเดช พัฒนาการจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับ นายมนัส บุญพยุง กำนันตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที นายสุวิช วงค์แป้น กำนันตำบลบางกุ้ง และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ตัวแทนครัวเรือนเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจากอำเภอบางคนที และอำเภอเมืองสมุทรสงคราม จำนวน 35 คน ให้การต้อนรับ และร่วมในกิจกรรม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นอย่างหาที่สุดไม่ได้ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ทรงงานอย่างหนัก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนให้แก่พสกนิกรชาวไทย ปรากฏผ่านแนวคิดทฤษฎีกว่า 40 ทฤษฎี มากกว่า4,000 โครงการ ตลอดการทรงครองราชย์ของพระองค์ นับเนื่องจนถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระองค์มีพระราชหฤทัยระลึกถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถ ดังพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” สะท้อนถึงพระราชปณิธานและพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ จึงถือเป็นโชคดีในชีวิตของพวกเราเหล่าชาวไทย ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ที่กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมบูรณาการกับทั้ง 7 ภาคี เป็นดังการน้อมนำแนวคิดทฤษฎีแห่งการพัฒนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด มาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ให้เกิดความดีงามตั้งแต่ในระดับปัจเจก ไปจนถึงการพัฒนาประเทศชาติ
ในส่วนของการลงพื้นที่ จังหวัดสมุทรสงคราม ในวันนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่คาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างน้อย 3 อย่าง ทั้งต่อพี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสงคราม และการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ประการแรก คือ การนำทีม พช.และภาคีเครือข่าย ร่วมพบปะเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ ต่อมาคือการนำผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมเสริมสร้างความเข้าใจในการดำเนินตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” หลักกสิกรรมธรรมชาติ หลักวิศวกรรม ข้อระเบียบทางราชการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและที่สำคัญที่สุดคือโอกาสในการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตกผลึกทางความคิดร่วมกันทุกฝ่าย วางแนวทางในการจัดการบริหารทรัพยากร ทั้งดิน น้ำ ลม แดด รวมถึงพืชพันธุ์ต่างๆ ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในบริบท ภูมิสังคมของจังหวัดสมุทรสงคราม ต้องมีการปรับประยุกต์แบบแปลนมาตรฐานให้สอดรับตามสภาพพื้นที่ หน้างาน ซึ่งเดิมพื้นที่ต้นแบบเกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่ร่องสวน โดยที่ต้องไม่ขัดหรือผิดจากข้อระเบียบกฎหมาย และต้องสามารถรับมือแก้ไขสถานการณ์ปัญหาน้ำในการเกษตร โดยเฉพาะน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร อีกด้วย
จึงขอฝากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ศึกษาและทำความเข้าใจในรายละเอียดของโครงการ หลักทฤษฎีใหม่ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เข้าใจลึกซึ้งถ่องแท้เมื่อเกิดความเข้าใจอันดีแล้วขอให้ร่วมกันสื่อสารประชาสัมพันธ์ไปให้เกิดความแพร่หลาย และอยู่บนฐานของความถูกต้อง ชัดเจน โดยเฉพาะจังหวัด และอำเภอ ที่เป็นดังโซ่ข้อกลาง ในการประสานประโยชน์ ต้องผลักดันนำสิ่งเหล่านี้ไปสร้างโอกาสที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนให้จงได้ เพราะนอกจากครัวเรือน ตำบล จะมีโอกาสในการน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ไปสู่การจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังได้หลักคิดในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดความสมดุล และความสุขที่ถ่องแท้ได้อย่างยั่งยืน ทุกกระบวนการของโครงการนี้นำการสร้างงาน สร้างอาชีพมาสู่ชุมชน ท้องถิ่น หมุนเวียนสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากต่อไป”
รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ กล่าวว่า “การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” เป็นสิ่งที่ทีมงานภาคภูมิใจ และเป็นไปโดยจิตอาสา เพื่อร่วมกันผลักดัน น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่และหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมุ่งให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ รวมถึงการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จนเกิดความยั่งยืน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานหลักคิดในการพัฒนา ที่ต้องเน้นการยึดถือสภาพตามความเป็นจริงของภูมิประเทศ ทั้งในด้านพื้นที่ดิน ด้านสังคมวิทยาและด้านวัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวกับนิสัยใจคอ และอัธยาศัยของคนในพื้นที่พัฒนาเป็นหลัก โดยทรงเน้นเสมอว่า จะพัฒนาอะไรหรือจะทำการใดนั้น ขอให้ยึดหลักสำคัญคือ การทำให้สอดคล้องกับ “ภูมิสังคม” เป็นหลัก
ทราบว่าปัญหาอุปสรรคสำคัญที่ของการดำเนินการในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม คือการที่ไม่อาจนำแบบแปลนมาตรฐาน มาปรับประยุกต์ตามสภาพพื้นที่ หน้างาน ด้วยพื้นที่เดิมเป็นร่องสวนและมีความสมบูรณ์ในตัวอยู่แล้ว โดยในการบรรเทาปัญหาเหล่านี้ทีมงาน จึงนำหลักคิดการพัฒนาบนหลักของภูมิสังคม มาสู่การออกแบบพื้นที่ใหม่โดยคำนึงถึงการไม่ไปแปรเปลี่ยนสภาพของพื้นที่ตรงนั้นให้เสียไปจากสภาพเดิม และคำนึงถึงความต้องการใช้สอยของเจ้าของพื้นที่เป็นสำคัญ แต่ยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานทางวิศวกรรม และกสิกรรมธรรมชาติ ที่มีจุดหมายปลายทางในการปัญหาเรื่องน้ำ ปัญหาการเพาะปลูก และช่วยให้บริหารจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อกำจัดข้อกังวลกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการตลอดจนเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่เรียกว่าเป็นอุปสรรค แต่คือโอกาสในการพัฒนาต่อยอดสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้กับทุกกลุ่มเป้าหมาย
ด้าน นายรักษ์เผ่า พลรัตน์ กล่าวว่า “นัยยะของโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” คือ การออกแบบพื้นที่ชีวิต โจทย์ใหญ่คือความสุข และความยั่งยืนของชีวิต จะออกแบบอย่างไรให้เข้ากับ ภูมิศาสตร์ และภูมิสังคม ของชาวจังหวัดสมุทรสงคราม ความสำเร็จในการออกแบบพื้นที่ที่ตอบโจทย์ดังกล่าว จึงเป็นดังตัวชี้วัดความสำเร็จ และรางวัลของทุกท่าน ที่มีความเสียสละ และความเพียรในการร่วมกันทำภารกิจสำคัญนี้ การมาได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้วันนี้จึงมีความสำคัญ ตามหลัก 3 ป. คือ “ประโยชน์” ของพี่น้องประชาชนในการบริหารจัดการที่ดิน สามารถใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด“ปลอดภัย” การดำเนินโครงการ ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ไม่เป็นอันตรายหรือเสียหายกับพื้นที่เดิม และเกิดความ “โปร่งใส” เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ เกี่ยวกับแนวทางการขุดดิน จำนวนปริมาตรดินขุด รูปแบบคลองไส้ไก่ การปรับรูปแบบที่ดินการคำนวณปริมาณดินขุด การกำหนดราคากลาง การตรวจรับงาน การยกเว้นปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน เป็นต้น
ผศ.พิเชษฐ์ โสวิทยสกุล กล่าวเสริมว่า “จังหวัดสมุทรสงคราม มีระบบนิเวศแบบ 3 น้ำคือ น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม และพื้นที่จังหวัดที่มีขนาดไม่ใหญ่นักเพียง 416.7 ตร.กม. โดยมีแม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำสายสำคัญ ลำคลองมากกว่า 360 ลำคลอง และมีลำประโดงกว่า 2,000 สายกระจายทั่วพื้นที่ ทำให้จังหวัดเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่อการผลิตพืชผักผลไม้และอาหารทะเล แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องการจัดการคุณภาพน้ำในการทำการเกษตร การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” สามารถบรรเทาปัญหาให้เบาบางลงได้ สิ่งหนึ่งคือการทำ “คลองไส้ไก่” นับเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะทำให้พื้นที่ทำกินมีความชุ่มชื้น ที่สำคัญยังเป็นการล็อกตะกอนดินที่เกิดจากการทับถมกันของใบไม้และอินทรีย์วัตถุต่าง ๆ อันอุดมไปด้วยธาตุอาหารที่จำเป็นแก่พืชเก็บน้ำฝนหล่อเลี้ยงดินและพืชผลตลอดทั้งปี บนคันดินก็ปลูกแฝกเพื่อลดการพังทลาย ตลอดจนปลูกพืช ผักสวนครัวสมุนไพร ไว้เป็นแหล่งอาหารได้อีกด้วย ฉะนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นจุดดีเด่นอยู่แล้วควรอนุรักษ์ไว้ และนำหลักการที่ดีมาปรับประยุกต์ให้ลงตัวโดยนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาผสานกับเทคนิคสมัยใหม่ ดังแนวพระราชดำริในการพัฒนาทุกเรื่อง ทรงแนะนำให้ผู้ดำเนินการพัฒนา ศึกษา เรียนรู้และทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศของท้องถิ่น รวมตลอดถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งก็คือการพัฒนาโดยยึดหลัก “ภูมิสังคม“
ทั้งนี้ ภารกิจการติดตามเยี่ยมเยียนพื้นที่หมู่บ้านครัวเรือนเป้าหมาย ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนอง นา พช.” จังหวัดสมุทรสงคราม โดยได้ลงพื้นที่ครัวเรือนเป้าหมาย อำเภอบางคนที พื้นที่ 3 ไร่ สภาพพื้นที่เป็นร่องสวน จำนวน 3 แปลง พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 1 แปลงได้แก่ 1) บ้านบางสะแก หมู่ที่ 6 ตำบลบางสะแก 2) บ้านค่าย หมู่ที่ 4 ตำบลบางกุ้ง 3) บ้านบางสะแก หมู่ที่ 2 ตำบลปราโมทย์ และ 4) บ้านบางยี่รงค์ หมู่ที่ 8 ตำบลบางยี่รงค์และพื้นที่ครัวเรือนเป้าหมายอำเภอเมืองสมุทรสงคราม พื้นที่ 1 ไร่ 1) บ้านศาลาพักร้อนหมู่ที่ 8 ตำบลบางขันแตก และ 2) บ้านบางสะใภ้ หมู่ที่ 7 ตำบลนางตะเคียน กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการตามมาตรการการป้องการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเข้มข้น โดยมีมาตรการคัดกรองและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยจัดให้มีการลงทะเบียนแต่ละจุด จำกัดจำนวนคน และทุกคนต้องผ่านจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าเพื่อคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย พร้อมจัดบริการเจลล้างมือแอลกอฮอล์ใช้ทำความสะอาดและต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาอย่างเคร่งครัด อีกด้วย