วันที่ 22 มีนาคม 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เยี่ยมชมจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส โดยมี นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นางดาเรศ จิตรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส ให้การต้อนรับเปิดบ้านพักให้เยี่ยมชมสวนเศรษฐกิจพอเพียง โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 เปิดสวนหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ปลูกผักสวนครัว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน “ผู้นำต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริง” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพลังความต่อเนื่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน และเพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ระยะสั้น ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ โดยมี นายอนันต์ แสงชาตรี พัฒนาการจังหวัดนราธิวาส และนายกิติพล เวชกุล ผู้ตรวจราชการกรม เข้าเยี่ยมชม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ภายในสวนมีพันธุ์พืชผักสวนครัวที่ปลูก อาทิ ชะอม พริก ตะไคร้ มะเขือ ตำลึง เป็นต้น ทั้งนี้มีการเลี้ยงปลา และเลี้ยงไก่จำนวนหลายตัวภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัด
ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาสได้ขับเคลื่อนการ “น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร (รอบ 2)” กำหนดดำเนินการระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพลังความต่อเนื่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ยั่งยืน และเพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ระยะสั้น ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ เป้าหมายดำเนินการในทุกหมู่บ้านทุกครัวเรือน มีหลักการดำเนินงานที่สำคัญ 7 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 “ผู้นำต้นแบบ ตัวอย่างที่เห็นจริง” ให้มีการเชิญชวนผู้บริหารจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วย นายอำเภอทุกอำเภอ กลุ่ม องค์กร ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนและอำเภอ ปลูกผักสวนครัวอย่างน้อย คนละ 10 ชนิด เป็นตัวอย่างแก่ประชาชน พร้อมสื่อสารสร้างการรับรู้ผ่านช่องทาง Social Media เป็นประจำทุกเดือน
ขั้นที่ 2 “ผู้นำต้องทำก่อน” รณรงค์เชิญชวนให้ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น กลุ่มองค์กร เครือข่าย และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) สร้างกระแสการปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่องในหลากหลายพื้นที่ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน
ขั้นที่ 3 “นักพัฒนา 3 ประสานกลไก ขับเคลื่อนปฏิบัติการ 90 วัน” ดำเนินงานร่วมกับ อปท. สร้างทีมนักพัฒนา 3 ประสาน ในระดับตำบล เพื่อขับเคลื่อนการปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่อง
ขั้นที่ 4 “ทุกครัวเรือน คือ คลังอาหาร ทุกหมู่บ้าน คือ ศูนย์แบ่งปัน” ร่วมรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รณรงค์คัดแยกขยะ ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหารเพื่อปรับปรุงดิน และเพิ่มผลผลผลิต อีกทั้งรณรงค์ให้ทุกหมู่บ้านสร้างคลังอาหารชุมชน โดยใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ เมื่อได้ผลผลิตก็นำมาแลกเปลี่ยนและแบ่งปันกัน โดยเฉพาะผู้ยากไร้ และจัดตั้งศูนย์แบ่งปันเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า
ขั้นที่ 5 “ทักษะชีวิตวิถีใหม่ เยาวชนไทย สร้างอาหารเป็น” ส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานศึกษา ศาสนสถาน เป็นแหล่งเรียนรู้ในการปลูกผัก
ขั้นที่ 6 “ถอดรหัสการพัฒนา ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน” ร่วมประเมินผลการความสำเร็จของโครงการ พร้อมถอดบทเรียนการขับเคลื่อนกิจกรรม (1 อปท. 1 อำเภอ ต้นแบบ)
ขั้นที่ 7 “ติดตาม และขยายผลอย่างต่อเนื่อง” เพื่อให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน
ในการนี้ จังหวัดนราธิวาส ได้รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ในวงกว้าง เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในหลายภาคส่วน พร้อมผลักดันแผนการส่งเสริมและรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวในทุกครัวเรือน สร้างชุมชนเข้มแข็งการพึ่งตนเองได้และเกิดความสามัคคีของคนในชุมชน และเพื่อเป็นการต่อยอดขยายผลการดำเนินงานปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนให้มีความยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนทางอาหารได้ในที่สุด