“ชวน” ชี้ “การเมืองสุจริต” แก้ปัญหาทุจริตได้ ถ้าปฏิบัติและลงมือทำ “วิชา” เบิ้ลบุคคลแห่งปี “ANTI-CORRUPTION AWARDS 2020” ยก“ถวิล–สปสช.-กฟภ.-มูลนิธิต่อต้านการทุจริต” แบบอย่างที่ดีต้านโกง ขณะที่“เดลินิวส์” คว้ารางวัลทรงคุณค่า
ที่ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.63 สมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) จัดงานมอบรางวัล“ANTI-CORRUPTION AWARDS 2020” ส่งเสริมการต้านคอร์รัปชั่น ประจำปี ๒๕๖๓โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานพิธีมอบรางวัล
นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานพิจารณาตัดสินรางวัล กล่าวว่า การพิจารณาตัดสินรางวัลฯ อันทรงเกียรติและทรงคุณค่านี้ คณะกรรมการพิถีพิถันพิจารณาผู้ที่ได้รับรางวัลตามหลักเกณฑ์สำหรับบุคคล องค์กร และสื่อมวลชน ที่มีผลงานด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นที่ประจักษ์ชัด การจัดงานครั้งนี้ คาดหวังว่าจะช่วยให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง และกระตุ้นจิตสำนึกคนไทย ตระหนักถึงการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงกว้าง สร้างขวัญกำลังใจให้บุคคล องค์กร และสื่อมวลชน ที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการต่อต้านการทุจริต
นายมานิจ ยังได้หยิบยกคำกล่าวของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากลเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ระบุว่า “การทุจริตที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจวบจนทุกวันนี้ เป็นวิกฤติของประเทศ ที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล” อีกทั้งประธาน ป.ป.ช.ยอมรับว่า การทุจริตและประพฤติมิชอบของไทยเรานั้นอยู่ในภาวะวิกฤติแล้ว เป็นการย้ำเตือนทุกคนให้เห็นความสำคัญกับปัญหานี้ และให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจังก่อนที่ประเทศชาติจะหายนะ
ด้าน ดร.เอก์ เหลืองสอาด นายกสมาคมฯ กล่าวว่า นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ในการจัดงานครั้งนี้ ตรงกับช่วงเวลาสำคัญของโลกที่กำหนดให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล และเพื่อยกย่อง เชิดชู บุคคล องค์กร และสื่อมวลชน ที่ให้ความสำคัญในปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยยึดหลักธรรมาภิบาลปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต เป็นการจุดประกายสร้างจิตสำนึกการต่อต้านทุจริตให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
สำหรับรางวัลแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้ ประเภทบุคคล ได้แก่ ข้าราชการ บุคคลทั่วไปรัฐวิสาหกิจ ประชาสังคม/องค์กรอิสระ ประเภทองค์กร ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชนรัฐวิสาหกิจ ภาคประชาสังคม/องค์กรอิสระ และประเภทสื่อมวลชน ได้แก่ หนังสือพิมพ์โทรทัศน์ วิทยุ สำนักข่าว/สื่อออนไลน์
จากนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การเมืองสุจริตทางรอดประเทศ” ความตอนหนึ่งว่า อันดับ CPI หรือดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นในภาครัฐ (Corruption Perception Index) ของไทย สวนทางกับที่ประธาน ป.ป.ช. แถลงตัวเลขการทุจริตคอร์รัปชั่นภาครัฐในปีงบประมาณ 2562 (สำนักงาน ป.ป.ช.รับเรื่องทุจริตไว้ 10,382 เรื่อง วงเงินทุจริต 238,209 ล้านบาท) ซึ่งสะท้อนในบางสิ่งที่ดีและร้าย
“การคอร์รัปชันไทย ไม่เกี่ยวข้องกับยีนส์ หรือพันธุกรรม แต่เกี่ยวกับการถูกปล่อยปละละเลยความมีระเบียบวินัยมานาน แม้ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้จริง และแม้จะบัญญัติมาตรการป้องกันการทุจริตมากเท่าใดแต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ”
นายชวน กล่าวย้ำว่า “ทุจริตคอร์รัปชั่น เราต้องเชื่อว่าเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ แต่ต้องเอาจริงเอาจัง การปราบปรามทุจริตสำคัญที่สุด อยู่ที่การปฏิบัติจริง รวมถึงไม่เกรงใจต่อการทุจริต”
การทุจริตเป็นเรื่องที่ผู้รับตำแหน่งในสภาฯ ตุลาการ ถูกเน้นย้ำมาตลอด แต่ก็ยังมีปัญหา มีทั้ง ส.ส.และรัฐมนตรีที่ตนรู้จักติดคุกหลายคน ทั้งนี้มีหลายคนย้ำว่าการเมืองต้องสุจริต แต่ก็ไม่มีการปฏิบัติ ดังนั้นการแก้ปัญหาคือต้องปฏิบัติ และมีมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤต
ทั้งนี้ ตนได้ตั้งคณะกรรมการสร้างการเมืองสุจริต โดยให้สถาบันพระปกเกล้าเขียนตำราขึ้นมาใหม่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชน โดยเชิญผู้แทนสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัย ราชภัฎฯ เข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งสื่อมวลชน และองค์กรเครือข่ายต่างๆเข้ามา โดยไม่ตั้งองค์กรใหม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ พร้อมกันนี้จะบรรจุหลักสูตร“สร้างสุจริต” ให้เยาวชนได้เรียนรู้ มีสำนึกต่อส่วนรวม อย่าดูดายต่อการทุจริต เราสามารถปลูกฝังเยาวชนให้เกิดความสำนึกดีได้ เพราะไม่มีประโยชน์ที่เราจะผลิตบัณฑิตเก่งแต่โกง เราต้องการคนเก่งและคนดี”
พร้อมกันนี้ ประธานรัฐสภายังกล่าวชื่นชมสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ที่ได้ดำเนินการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ทั้งนี้หากหล่าวถึงแนวทางสุจริตหลายคนอาจจะมองว่าล้าสมัย แต่เราต้องยืนหยัดในสิ่งนี้ และทำให้ดูทันสมัย อย่าเป็นไดโนเสาร์จมอยู่กับอุดมคติที่ไม่เป็นจริง ต้องเชื่อว่าการแก้ปัญหาทุจริตนั้นเป็นไปได้โดยวิธีปฏิบัติคือ ลงมือทำจริง
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัล “ANTI-CORRUPTION AWARDS 2020” ส่งเสริมการต้านคอร์รัปชั่น ประจำปี ๒๕๖๓ ประเภทบุคคล ได้แก่ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเป็นแบบอย่างของบุคคลที่ไม่ทนต่ออำนาจไม่สุจริตแม้คดีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการจะผ่านพ้นไปแล้ว 9 ปี แต่ผลของการต่อสู้คดี กรณีถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรม ในที่สุดศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาคืนตำแหน่งเลขาธิการสมช. ให้นายถวิล โดยวินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบ โดยการต่อสู้คดีของนายถวิลถือเป็นบรรทัดฐานให้กับข้าราชการ อีกทั้งจะเป็นขวัญกำลังใจให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์
ประเภทองค์กร ภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีความตื่นตัวต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น โดย สปสช.ได้สุ่มตรวจการเบิกจ่ายเงินบัตรทองจากคลีนิค 18 แห่งในในกรุงเทพฯ พบว่ามีการทุจริต ไม่มีเอกสารหลักฐานของประชาชนที่เข้ารับการตรวจคัดกรองโรค และได้ขยายผลตรวจสอบอีก 63 คลีนิคสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของหน่วยงานภาครัฐ ที่เอาใจใส่ป้องปรามการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม
ประเภทองค์กร วิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลกิจการที่ดี โปร่งใส ตรวจสอบได้โดยจัดตั้ง “เครือข่ายโปร่งใส” เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนและช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้ กฟภ. โดยทำหน้าที่เฝ้าระวังสอดส่อง ดูแลป้องกัน และแจ้งเบาะแสหากพบการทุจริต
ประเภทองค์กร ภาคเอกชน ได้แก่ มูลนิธิต่อต้านการทุจริต แม้จะเพิ่งก่อตั้งมาเพียงระยะเวลาไม่มากนัก แต่ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเชิงรุกจนเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนให้กับสนับสนุน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ส่งผลให้สังคมเกิดความตื่นรู้ถึงปัญหาการทุจริตร่วมเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวางผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ โครงการ “หมู่บ้านช่อสะอาด” และการประกวด “การต่อต้านการทุจริต ผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน” เป็นต้น
ประเภท สื่อมวลชน ได้แก่ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่นำเสนอข่าวการทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จนทำให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ (ป.ป.ช.ภาค 3) ขยายผลตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนโรงเรียน 4 แห่ง เข้าข่ายการกระทำทุจริตอย่างชัดเจน และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้
สำหรับบุคคลเกียรติยศแห่งปี ได้แก่ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต ได้รับรางวัลติดต่อกันเป็นปีที่สอง
ผลงานที่โดดเด่นในปีนี้ อาทิ กรณีสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธอยู่วิทยา หรือบอส ทายาทกระทิงแดง ที่ศาสตราจารย์(พิเศษ) วิชา มหาคุณ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยผลการตรวจสอบชี้ว่า การสั่งไม่ฟ้องคดีนายบอส มีการกระทำเป็นเครือข่าย–สำนวนไม่ชอบ–สมคบคิดประวิงคดี พร้อมเสนอเอาผิดจริยธรรมร้ายแรงต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และให้ดำเนินคดีกับนายบอส ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในอนาคต