กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมมือ กรมอนามัย เดินหน้าจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ผลิตอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น 15,548 อัตรา กระตุ้นจ้างงาน-เศรษฐกิจฐานราก รองรับสังคมสูงวัยในระยะยาว
วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานเทศบาลนครนครปฐม จังหวัดนครปฐม นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับ น.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมในโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ประจำปี พ.ศ. 2563 รุ่นที่ 1 – 4 ของจังหวัดนครปฐม และมี นายขจร ศรีชวโนทัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายธีระยุทธ สำราญทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกรม หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนครปฐม นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ร่วมเป็นเกียรติในพิธี โดยมีนายหมวดเอกเอกพันธุ์ คุปตวัช นายกเทศมนตรีนครนครปฐม และนายไอศูรย์ ดีรัตน์ ท้องถิ่นจังหวัดนครปฐม กล่าวรายงาน
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และอธิบดีกรมอนามัย ได้รับชมการนำเสนอผลงานของผู้ผ่านการฝึกอบรมอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นฯ รุ่นที่ 1 – 4 ของจังหวัดนครปฐม ซึ่งได้นำเสนอองค์ความรู้ และตัวอย่างกิจกรรม จากหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) จำนวน 70 ชั่วโมงของกรมอนามัย อาทิ การดูแลปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง การอาบน้ำ การทำความสะอาดร่างกาย การแต่งตัว การรับประทานอาหาร การดูแลตามแผนการดูแลรายบุคคล การดูแลด้านสุขภาพพื้นฐาน การฟื้นฟูสมรรถภาพ การกายภาพบำบัด ไปจนถึงสันทนาการ หลังจากนั้นได้ร่วมกันมอบเกียรติบัตรให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรมในโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น ฯ จำนวน 205 คน จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 105 แห่งในพื้นที่จังหวัดนครปฐม
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ผ่านการฝึกอบรม ฯ ว่า โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น เป็นความห่วงใยของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ประสงค์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัยอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมไปกับเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด – 19
“ประโยชน์ของโครงการนี้ จึงเป็นพหุประสงค์ นอกจากทำให้เกิดการจ้างงานที่สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน จำนวน 15,548 คนแล้ว ยังสร้างอาชีพใหม่คืออาชีพนักบริบาล ที่นับแต่วันนี้ไปจนครบ 12 เดือนข้างหน้า จะร่วมดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงด้านอนามัยพื้นฐาน ร่างกาย จิตใจ กว่า 8 หมื่นคนทั่วประเทศ หลังจากนั้นทุกท่านที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถไปประกอบอาชีพในสถานประกอบการ หรือเป็นนักบริบาลอิสระได้ อีกทั้งยังสามารถเข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุขั้นสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพในอนาคตได้” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าว
ด้านนพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า “การดำเนินการในระยะต่อไปของกรมอนามัยได้เร่งขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เพื่อรองรับสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 โดยพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการปฏิบัติงานและจัดทำหลักสูตรการอบรมผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) รวมถึงหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) 70 ชั่วโมงและ 420 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้มีผู้ผ่านการอบรมและปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เป็น Care Manager จำนวน 13,615 คน Caregiver จำนวน 86,404 คน และได้ขยายความครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและประชาชนทุกกลุ่มวัยที่มีภาวะพึ่งพิงให้เข้าถึงระบบการดูแลส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาและการเข้าถึงหน่วยบริการ โดยเฉพาะบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และบริการฟื้นฟูสุขภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามชุดสิทธิประโยชน์ สำหรับระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) เน้นบูรณาการด้านการจัดบริการทางด้านสาธารณสุขและสังคม โดยให้ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในระดับท้องถิ่น ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดระบบบริการสาธารณสุขและสังคมมากขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นายไอศูรย์ ดีรัตน์ ท้องถิ่นจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนครปฐม ได้จัดอบรมโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ประจำปี 2563 จำนวน 4 รุ่น ระหว่างวันที่ 26-30 ตุลาคม และวันที่ 2-6 พฤศจิกายน 2563 เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความรู้และทักษะปฏิบัติในการช่วยเหลือและดูแลผู้สูงอายุ อีกทั้งช่วยเหลือประชาชนที่ว่างงานและเกิดการจ้างงาน มีรายได้จากการประกอบอาชีพ ตลอดจนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ได้รับการช่วยเหลือดูแลสุขภาพด้านอนามัยพื้นฐานใน 4 มิติ ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยใช้หลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 70 ชั่วโมง ของกรมอนามัย อาทิ การดูแลปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง การอาบน้ำ การทำความสะอาดร่างกาย การแต่งตัว การรับประทานอาหาร การดูแลตามแผนการดูแลรายบุคคล การดูแลด้านสุขภาพพื้นฐาน การฟื้นฟูสมรรถภาพ การกายภาพบำบัด ไปจนถึงสันทนาการ ซึ่งมีผู้รับการอบรม จำนวน 205 คน และผ่านการทดสอบทั้งหมด