วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563 10.00 น. นายศรัญยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดงาน 60 ก้าวย่างกรมการพัฒนาชุมชนน้อมนำศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และ โครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ สอ.พช. ประจำปี 2563
โดยมี นายอาทร พิมชะนก พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวรายงานฯ ในการนี้ นายเลอยศ พุทธชิโนรสสกุล นายอำเภอสารภี นายวิทยา ชุมภูคำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางลัดดา พรหมเมือง ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นางสโนไวท์ สุขทวีสถิตย์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนและสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กรมการพัฒนาชุมชน (สอ.พช.) ข้าราชการบำนาญ ผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิดจังหวัดเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย ได้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ณ ศูนย์สารภี ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
กรมการพัฒนาชุมชน ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยมีภารกิจในการส่งเสริมการพัฒนากระบวนการเรียนรู้กับประชาชน ส่งเสริมอาชีพ ทุนชุมชน เพื่อยกรัดบการพัฒนาคุณภาคชีวิตลดความเหลื่อมล้ำ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยกระบวนการสร้างการเรียนรู้ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไขปัญหา ในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน และตำบล สร้างพลังชุมชน ใช้พลังชุมชนในการพัฒนาชุมชนตลอดระยะเวลายาวนาน
จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ สหกรณ์ออมทรัพย์กรมการพัฒนาชุมชน (สอ.พช.) ได้กำหนดจัดโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์สหกรณ์ออมทรัพย์กรมการพัฒนาชุมชน(สอ.พช.)ประจำปี 2563 กิจกรรมการพัฒนาศูนย์สารภี ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้กิจกรรม “60 ก้าวย่างกรมการพัฒนาชุมชน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้การทำงานพัฒนาชุมชนที่ผ่านมาและก้าวย่างต่อไปของกรมการพัฒนาชุมชนที่จะเข้าสู่ปีที่ 60 ในปี พ.ศ.2563 กอรปกับการส่งเสริมพัฒนากิจกรรมฐานเรียนรู้ภายในศูนย์สารภี ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านทุนชุมชนให้มีบทบาทในการเป็นแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริมอาชีพ ทุนชุมชน และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้กับประชาชน เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เป้าหมายกลุ่มเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ จำนวน 250 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กรมการพัฒนาชุมชน (สอ.พช.) ข้าราชการบำนาญ และภาคีเครือข่าย ซึ่งได้กำหนดกิจกรรมดำเนินงาน ดังนี้
(1) กิจกรรมทางศาสนาและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน
(2) พิธีเปิดกิจกรรม “60 ก้าวย่าง กรมการพัฒนาชุมชน” (โดย นายศรัญยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่)
(3) การมอบเงินบริจาคสนับสนุน “โครงการซ่อมสร้างบ้าน สร้างรอยยิ้มให้ครัวเรือนยากจน คนเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2564” จาก นายธรรมยศ พนมธรนิจกุล จำนวน 100,000 บาท
โดยมี นายศรัญยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้รับมอบเงินฯ จาก นายวิญญู บุญสุวรรณ (ผู้แทนมอบเงิน)
(4) เยี่ยมชมนิทรรศการ การแสดงผลิตภัณฑ์ กลุ่มสัมมาชีพ
(5) กิจกรรมการรับฟังความรู้ “ตำนานศูนย์สารภี” โดย นายสมควร ช่อมาลี อดีตพัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่
(6) ประชุมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสหกรณ์ออมทรัพย์กรมการพัฒนาชุมชน
(7) แบ่งกลุ่มศึกษาเรียนรู้ จำนวน 9 ฐาน และ ครัวเรือนผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ รูปแบบประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล” (นายอนนท์ ยศอนัน)
สำหรับในปี พ.ศ. 2563 จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินงานโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ (ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนตำบลขัวมุง) จัดทำสร้างฐานเรียนรู้ จำนวน 10 ฐาน ประกอบด้วย
(1) ฐานเรียนรู้การทรงงานฯ
(2) ฐานเรียนรู้การปลูกพืชผักสวนครัว
(3) ฐานเรียนรู้การเพาะเลี้ยงกบ
(4) ฐานเรียนรู้การเพาะเลี้ยงปลานิล
(5) ฐานเรียนรู้เพาะเห็ดนางฟ้า
(6) ฐานเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่
(7) ฐานเรียนรู้การทำน้ำหมักชีวภาพ
(8) ฐานเรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์
(9) ฐานเรียนรู้สารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี
(10) ฐานเรียนรู้การทำลูกประคบสมุนไพร
โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ปี 2563 จำนวน 3 กิจกรรม คือ
(1) ปรับปรุงพื้นที่พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ “โคก หนอง นา โมเดล”
(2) เอามื้อสามัคคี จำนวน 7 ครั้ง เพื่อขยายผลครัวเรือน“โคก หนอง นา โมเดล” จำนวน 20 คน
(3) จ้างงานในศูนย์เพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานจากผลกระทบโควิด จำนวน 3 คน
ศูนย์สารภี ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ 2515 โดยมีภารกิจในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือ แนะนำสาธิตด้านวิชาการและการปฏิบัติด้านการเกษตร สาธิตด้วยการเลี้ยงสัตว์ส่งเสริม ให้ราษฎรในเขตภาคเหนือและภูมิภาคใกล้เคียงได้มาเรียนรู้แนวทางการปฏิบัติเพื่อสร้างอาชีพรายได้ให้แก่ครัวเรือน โดยได้ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึง ปีพ.ศ 2544 มีหลายกิจกรรมต้องยุติการดำเนินงานเนื่องจากปัญหาสถานที่ฝึกอาชีพ โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ชำรุดทรุดโทรมไม่อาจนำมาใช้ได้และขาดงบประมาณในการบำรุงรักษา ต่อมาในปี 2555-2558 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจากกรมการพัฒนาชุมชนในการส่งเสริมการดำเนินงานด้านทุนชุมชนในพื้นที่ และในปี พ.ศ. 2560 มุ่งไปสู่การเป็นศูนย์การถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านทุนชุมชน(ทุนที่ไม่เป็นตัวเงิน) และเทคนิคในด้านวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับทุนชุมชนจากปราชญ์ผู้รู้ในชุมชน ภาคราชการ และภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาสให้กับประชาชน
วิญญู บุญสุวรรณ//ถ่ายภาพ : ข่าว
ทีมกลุ่มงานสารสนเทศฯ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่