วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2563 เวลา 09.00 น. ณ บริเวณป่าสงวนแห่ชาติฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี บ้านเนินสูง ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี มูลนิธิคนสร้างป่า ร่วมกับ กรมป่าไม้ และชุมชนตำบลรางบัว จัดกิจกรรมปลูกฟื้นฟูป่าสงวนแห่งชาติฝั่งช้ายแม่น้ำภาชีอย่างมีส่วนร่วม ครั้งที่ 1 ได้รับเกัยรติจาก นายสุวัช สิงหพันธ์ ประธานมูลนิธิคนสร้างป่า กล่าวเปิดงาน และนายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอจอมบึง กล่าวต้อนรับ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายสนอง จันทนินทร อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมเปิดโครงการ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า สถานการณ์ทรัพยากรป่าไม้ในปัจจุบัน พบว่ามีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะวิกฤติ ขาดสมดุลทางธรรมชาติ ในห้วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้ง และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำรงชีวิต ของประชาชน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในการป้องกันและปราบปราม การแก้ไขกฎหมาย ให้เอื้อต่อการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ ตลอดจนนโยบายในการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมอย่างมีส่วนร่วมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ อีกทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ได้กำหนดให้เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ หรือ 128 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ร้อยละ 25 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 ปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่ป่าไม้ประมาณ 102 ล้านไร่ กรมป่าไม้จึงต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้อีก 26 ล้านไร่ โดยจำเป็นต้องเร่งดำเนินการปลูกฟื้นฟูทั้งในพื้นที่ของรัฐ และปลูกเพิ่มเติมในพื้นที่เอกชนนอกเขตป่า ในการปลูกฟื้นฟูป่าในที่ดินของรัฐ จำเป็นต้องมีการบูรณาการภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะราษฎรในท้องที่ อันจะก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของทรัพยากรป่าไม้ และมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปลูกและดูแลรักษาป่า
การดำเนินกิจกรรมปลูกฟื้นฟูป่าในครั้งนี้ กรมป่าไม้โดยสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) ได้บูรณาการความร่วมมือกับอำเภอจอมบึง องค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายหมู่บ้านป้องกันไฟป่า หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ร่วมกันปลูกฟื้นฟูสภาพป่าแบบปราณีต ตามลักษณะของป่าธรรมชาติป่าเบญจพรรณ กำหนดชนิดไม้เป็นไม้ท้องถิ่น 3 กลุ่ม คือ ไม้เบิกนำ ไม้เรือนยอดเด่น ไม้เรือนยอดรอง และไม้พุ่ม ตามแบบแผนการฟื้นฟูป่าไม้แนวใหม่ และไม้ทั้ง 3 กลุ่มนี้ ยังประกอบด้วย ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ไม้ใช้สอย รวมถึงไม้ที่เป็นพืชอาหาร เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพในการฟื้นฟูป่าที่เสื่อมสภาพให้ฟื้นคืนสภาพป่าดั่งเดิมได้เร็วยิ่งขึ้น
สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการจัดกิจกรรมครั้งที่ 1 ดำเนินการปลูกฟื้นฟูป่า จำนวน 10 ไร่ โดยปลูกต้นไม้ท้องถิ่น จำนวน 15 ชนิด รวมทั้งสิ้น 2,000 ต้น นอกจากนี้ยังได้ มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ทางด้านไม้มีค่าและป่าชุมชน การแจกจ่ายกล้าไม้มีค่าให้แก่ผู้ร่วมกิจกรรม จำนวน 600 ต้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมลงทะเบียนปลูกต้นไม้ ตามโครงการ “รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน สืบสานสู่ 100 ล้านต้น ภายในปี พ.ศ. 2565”