เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการเปิดโครงการ “สัมมนาเพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและท้องที่ในการร่วมกันจัดบริการสาธารณะ” พร้อมร่วมสัมมนาเรื่อง การจัดการบริการสาธารณะ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “การเติมน้ำลงดิน” โดยมี นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผวจ.สุพรรณบุรี นายวีระชาติ สมบูรณ์วิทย์ พัฒนาการ จ.สุพรรณบุรี นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายก อบจ.สุพรรณบุรี พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมต้อนรับ และเข้าร่วมสัมมนา ณ โรงแรมพชร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การสัมมนาในวันนี้เพื่อเติมเต็มความเข้าใจการบริหารจัดการน้ำที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นเรื่องที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน สามารถทําได้จริงและมีประโยชน์มากมาย ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวทางต่างๆ ในการบริหารจัดการน้ำผ่านเกษตรทฤษฎีใหม่ การบริหารจัดการที่ดินให้มีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หรือไม้ 5 ระดับ การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ประกอบด้วย ไว้กิน ไว้ใช้ ไว้ทำเชื้อเพลิง ไว้ให้ร่มเย็น ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงด้านน้ำด้วยเพราะรากไม้เปรียบเสมือนธนาคารน้ำใต้ดินตามธรรมชาติ มีใบปกคลุมทำให้น้ำระเหยช้า เหนือต้นไม้อุณหภูมิก็ต่ำกว่าเขาหัวโล้นหรือที่เตียนโล่ง ทำให้เกิดฝนตกต้องตามฤดูกาล เติมน้ำให้แผ่นดิน ป่าไม้จึงเป็นธนาคารน้ำใต้ดินที่ต้องช่วยกันปลูกให้มีมากขึ้น ควบคู่กับการทำธนาคารน้ำใต้ดินที่มนุษย์สร้างขึ้นเหมือนที่มาอบรมกันในวันนี้ หรืออีกนัยหนึ่งต้องมีการบูรณาการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินควบคู่กับการปลูกไม้ยืนต้นให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้มาเป็นแนวทางภายใต้ชื่อ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก โดยหนองเป็นแหล่งชะลอน้ำ เหมือนหลุมขนมครก แล้วเติมแหล่งกักเก็บน้ำในการบริหารจัดการพื้นที่ รวมถึงคลองไส้ไก่ ถ้าเปรียบคลองไส้ไก่เป็นเหมือนเส้นเลือด หนองก็เหมือนหัวใจที่สูบฉีดโลหิต และกระจายไปตามต้นไม้ ซึ่งจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ยั่งยืน สร้างประโยชน์ได้มากมาย และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน
อธิบดี พช. ยังได้กล่าวเชิญชวนให้ร่วมกันสนับสนุนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่รณรงค์ให้ทุกคนใส่ผ้าไทยว่า ถ้าพวกเรารวมใจสวมผ้าไทย ก็จะสามารถช่วยลดอุณหภูมิแอร์ในห้องแอร์ได้ เพราะไม่ต้องมีเสื้อคลุม ไม่ต้องมีเนคไท และที่สำคัญที่สุดผ้าไทยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้สีธรรมชาติ ใช้ใยจากฝ้ายจากไหม สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ รวมถึงการบริหารจัดการขยะ คัดแยกขยะ ลดละการใช้ขยะให้น้อยลง และสามารถนำไปต่อยอดโครงการปลูกพืชปลูกผักปลูกรักกับ พช.ได้ เป็นการใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน
สำหรับ กิจกรรมในโครงการฯ ยังมีการสัมมนาเรื่อง “นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำในระบบ (SGB) ธนาคารน้ำใต้ดินแบบพอเพียง” โดย ดร.ภูนท สลัดทุกข์ และ นายชาตรี ศรีวิชาฐา นายกองค์การบริการส่วนตำบลเก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี, เสวนาวิชาการเรื่อง “นโยบายการแก้ไขปัญหาภัยแล้วโดยหลักการ DSLM และ SGB ระบบธนาคารน้ำใต้ดินแบบพอเพียง ในบริบทสุพรรณบุรีเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” โดย นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกอบจ.สุพรรณบุรี, นายปรีชา สุขรอด ปลัด อบจ.แพร่, ดร.ภูนท สลัดทุกข์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และ นายวรินทร สุธรรมชาว ผอ.สถาบันพัฒนาศักยภาพท้องถิ่น โดยมีผู้เข้าสัมมนาร่วมแลกเปลี่ยนอย่างคับคั่ง