มหาวิทยาลัยมหิดล เร่งผลิตหุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ DoctoSight ช่วยทีมบุคลากรทางการแพทย์

มหาวิทยาลัยมหิดล เร่งผลิตหุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ DoctoSight ช่วยทีมบุคลากรทางการแพทย์

ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากการกระจายตัวบุคลากรทางการแพทย์ในหลายพื้นที่ ทำให้อัตราส่วนจำนวนบุคลากรทางด้านการแพทย์ต่อประชากรทั้งหมดค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ย 0.393 คน ต่อประชากร 1,000 คน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ย่อมต้องการนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยแบ่งเบาภาระทีมแพทย์ พยาบาล ตลอดจนมุ่งพัฒนายกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศ

มหาวิทยาลัยมหิดล เร่งผลิตหุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ DoctoSight ช่วยทีมบุคลากรทางการแพทย์

รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้มีแนวคิดในการพัฒนาหุ่นยนต์ DoctoSight โดยได้มีการพัฒนาออกมาหลายรุ่น วัตถุประสงค์หลักคือการผลิตเพื่อช่วยทีมแพทย์ โดยมี 2 ประเด็นหลักใหญ่ๆ ประเด็นแรกเป็นเรื่องของการสื่อสาร หรือเรียกว่าระบบโทรเวช (Telemedicine) คือ ให้หุ่นยนต์เป็นตัวกลางระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย และประเด็นที่สอง คือ เรื่องความสามารถในการขนย้าย ได้แก่ ยา และเวชภัณฑ์ ซึ่งสามารถส่งจาก ตึก/ห้องจ่ายยา ไปยังห้องผู้ป่วยได้ ลักษณะสำคัญที่ทางทีมงานได้พัฒนา คือ เรื่องของความฉลาดของตัวหุ่นยนต์ ระบบนำทาง และความสามารถในการสื่อสารกับผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ผู้ป่วย และพยาบาลที่ดูแล และที่สำคัญ ตัวหุ่นยนต์ก่อนที่จะใช้งานจะมีการติดตั้งข้อมูล เช่น แผ่นที่ , เทคโนโลยีการเชื่อมโยงการเปิด- ประตู , การเข้าออก-ลิฟต์, การสั่งการลิฟต์จากชั้นหนึ่งไปอีกชั้นหนึ่ง และสิ่งสำคัญที่สุดที่ทีมวิจัยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มา 3-4 รุ่น ในหลายปีที่ผ่านมา คือการที่หุ่นยนต์จะต้องผ่านมาตรฐานในระบบสากล เช่น มาตรฐานการใช้งานที่เป็นหุ่นยนต์ทางการแพทย์
เรื่องของความปลอดภัยต่าง ๆ ในภาวะปัจจุบันก็สามารถที่จะนำหุ่นยนต์ที่สำเร็จแล้ว ไปประยุกต์ใช้หรือเพิ่มจำนวนโดยการพัฒนาเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายตัว เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในเหตุการณ์ปัจจุบันเรื่อง โรค COVID-19 ได้




ดังนั้นลักษณะการทำงานของหุ่นยนต์และขั้นตอนการทำงานของหุ่นยนต์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาขึ้น มี 2 ตัว โดยใช้ชื่อว่า DoctoSight 1 และ DoctoSight

ตัวแรก หุ่นยนต์แพทย์อัฉริยะ DoctoSight 1 เป้าหมายหลักคือ การใช้หุ่นยนต์เพื่อทำงานผ่านระบบโทรเวช (Telemedicine) จะช่วยให้แพทย์และบุคลากรไม่ต้องเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ คือหุ่นยนต์จะทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญอาจจะอยู่ที่จุดจุดหนึ่ง อยู่ที่โรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง ต่างจังหวัดหรือต่างอำเภอ โดยตัวหุ่นยนต์จะอยู่กับคนไข้ หุ่นยนต์จะถูกบุคลากรทางการแพทย์บังคับ หรือสั่งการ โดยใช้รีโมท หรืออีกลักษณะหนึ่งที่พิเศษ คือ หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่หาตำแหน่งต่างๆ หรือเข้าหาผู้ป่วยโดยอัตโนมัติ หุ่นยนต์สามารถรับคำสั่งจากการสั่งการผ่านทางหน้าจอระบบสัมผัสให้ทำงานตามฟังก์ชันต่าง ๆ ได้ ตัวหุ่นยนต์จะวิ่งจากจุดที่ปลอดภัย เช่น เมื่อบุคลากรทางการแพทย์สั่งการจากจุด ๆ หนึ่ง ตัวหุ่นยนต์จะใช้ระบบนำทาง ร่วมกับแผนที่ในตัวหุ่นยนต์ สั่งการให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่หลบหลีกสิ่งกีดขวาง ไม่ว่าจะเป็นโถงทางเดินในโรงพยาบาลหรือบริเวณห้องผู้ป่วย โดยสามารถเคลื่อนที่ผ่านประตูอัตโนมัติเข้าไปเพื่อพูดคุยกับผู้ป่วยได้ บุคลากรทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล สามารถคุยกับผู้ป่วยผ่านทางตัวของหุ่นยนต์ สำหรับ DoctoSight 1 นั้นจะมีช่องเก็บของเล็กๆ ซึ่งสามารถใช้เก็บยาและเวชภัณฑ์ติดตัวไปได้




ตัวที่สอง หุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ DoctoSight 2 เป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติแบบนำพา คือบนตัวหุ่นยนต์จะมีบริเวณที่ใช้เป็นส่วนบรรทุกกล่องหรือระบบขนย้ายสิ่งของ ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้หลากหลายลักษณะ เช่น ใช้ขนย้ายยาที่ต้องการใส่ในตู้เย็นที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ หรือใช้ขนย้ายยาจากห้องจ่ายยาไปยังจุดต่าง ๆ ของโรงพยาบาล หุ่นยนต์ทั้ง 2 แบบนี้ได้พัฒนาขึ้นมาบนพื้นฐานของการควบคุมทางไกลและสามารถทำงานด้วยตัวเองโดยอัตโนมัติตามแผนที่และระบบนำทางได้




รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “หุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัวนี้ ได้มาตอบโจทย์ ในเรื่องโลจิสติกส์ และเรื่องการลดโอกาสการติดเชื้อจากผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ผลิตหุ่นยนต์ที่เป็นต้นแบบรุ่นปัจจุบันสำเร็จแล้ว และในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ไป จะผลิตหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นอีกประมาณอย่างละ 5 ตัว เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ทำงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ เพื่อการเตรียมพร้อมพัฒนาหุ่นยนต์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”

Related posts