พช. เตรียมเปิดตัว “ชุมชนต้องเที่ยว (Community Tourism : Creative Experience)” 100 ชุมชนนำร่อง

วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2562 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ชุมชนต้องเที่ยว” (Community Tourism : Creative Experience) ระหว่างวันที่ 21 – 23 ธันวาคม 2562 กลุ่มเป้าหมาย คือ ชุมชนท่องเที่ยวดาวเด่น (A) ที่มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว จำนวน 100 ชุมชน โดยมี คุณมิช โกห์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Airbnb และคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมเปิดการประชุมฯ ณ ห้องจูปิเตอร์ 11-13 อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็คเมืองทองธานี




กรมการพัฒนาชุมชน ได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการส่งเสริมหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว มาตั้งแต่ปี 2549 และดำเนินโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เมื่อปี 2561 ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน ที่กรมฯ ดำเนินการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 3,573 ชุมชน แบ่งประเภทชุมชนท่องเที่ยว ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1) ชุมชนท่องเที่ยวดาวเด่น (A) จำนวน 211 ชุมชน 2) ชุมชนท่องเที่ยวดาวรุ่ง (B) จำนวน 730 ชุมชน 3) ชุมชนโดดเด่นเฉพาะด้าน (C) จำนวน 1,472 ชุมชน และ 4) ชุมชนสินค้า OTOP (D) จำนวน 1,160 ชุมชน และเพื่อเป็นการเสริมพลังชุมชนท่องเที่ยวให้มีความพร้อมในทุกด้าน กรมฯ จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ“ชุมชนต้องเที่ยว” (Community Tourism : Creative Experience) ครั้งนี้ขึ้น วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแนวทางการพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว การวางแผนกำหนดทิศทางการส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการตลาด รวมถึงการเชื่อมโยงธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือ ชุมชนท่องเที่ยวดาวเด่น (A) ที่มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 100 ชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนมีผู้เข้าร่วมประชุม 3 คน ประกอบด้วย นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนากร และผู้นำชุมชนท่องเที่ยว จาก 63 จังหวัด รวม 300 คน โดยมีภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ บริษัท Airbnb นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดของการท่องเที่ยวโดยชุมชน การใช้เทคโนโลยี การใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อการเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวสอดรับกับแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศของรัฐบาล ที่มีรูปแบบการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน คือ “เอกชนนำ ประชาชนลงมือทำ และรัฐสนับสนุน” ในส่วนของการส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำงาน อาทิ เจ้าของแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ คือ Airbnb ที่เป็นเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ให้บริการที่พักและกิจกรรมเชิงประสบการณ์ การประสานความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเชิงธุรกิจกับบริษัทนำเที่ยว และเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ในส่วนของภาครัฐ นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยตรงแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นส่วนสำคัญในการร่วมประสานกำลังในพื้นที่ เพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ทั้งความสะดวก สะอาด และความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ที่ล่าสุด กรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกับ Airbnb กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชูแคมเปญนอกเหนือจากเมืองใหญ่ : เสริมแกร่งท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดสระบุรี ที่จะเป็นการเสริมแกร่งเจ้าของโฮมสเตย์ในสระบุรีที่มีความกระตือรือร้นในการแบ่งปันวิถีชีวิตให้กับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติได้เป็นอย่างดี ด้วยการริเริ่มดังกล่าวนี้เราจะใช้เป็นตันแบบนำไปขยายผลในชุมชนอื่น ๆ พร้อมกับการสนับสนุนให้เกิดความพร้อมเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เพราะเราอยากเห็นชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเผยแพร่เสน่ห์ความสวยงาม และสิ่งที่ดี ๆ ของไทย รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเข้มแข็งและยั่งยืน

และในด้านของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ของสาธารณสุขที่ดูแลเรื่องสุขภาพ กรมการพัฒนาชุมชนก็สนับสนุนให้เกิดความพร้อมเพิ่มมากขึ้น เช่น การเปิดสอนนวดแผนไทยตำรับวัดโพธิ์ที่ร่วมกับโรงเรียนวัดโพธิ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การเร่งเผยแพร่หมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยว มีการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชน เช่น Airbnb หรือบริษัทอื่นๆ เพื่อช่วยส่งเสริมการตลาด ให้ชุมชนหมู่บ้าน ปัจจัยของความสําเร็จจึงอยู่ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ต้องบูรณาการการทำงานเพื่อให้เจ้าของบ้านที่ดีเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเรียนรู้มีประสบการณ์ที่แปลกใหม่แก่ชีวิต โดยทางกฎหมายยังได้เปิดโอกาสให้เจ้าของบ้านที่มีห้องเหลือ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 4 ห้อง หรือไม่เกิน 20 คน สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนเป็นโรงแรม เพียงแค่จดแจ้งต่อนายอำเภอ ในส่วนของ “พัฒนากร” บุคลากรที่สำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน คือ ผู้ร่วมทำงานกับประชาชนในพื้นที่ ทำหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และประสานงาน สร้างกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ให้ร่วมกันสร้างกลไกและระบบบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว เช่น ป้ายท่องเที่ยว ไฟฟ้าส่องสว่าง การจัดงานประเพณีวัฒนธรรม หรือการส่งเสริมอาชีพ โดยไม่ลืมเรื่องของความปลอดภัย ที่จะมีฝ่ายปกครอง / ตำรวจ เป็นผู้ดูแลให้ และที่ขาดไม่ได้ คือ ผู้นำชุมชนท่องเที่ยว “ผู้ลงมือทำ” เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการสร้างสรรค์รูปแบบ การท่องเที่ยวโดยชุมชน จากอัตลักษณ์และทุนของชุมชน รวมถึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

โดยในระหว่างบรรยายนายสุทธิพงษ์ ได้ฉายวีดีโอประชาสัมพันธ์หนองแซง สระบุรี ที่ Air bnb จัดทำเผยแพร่ในแพลตฟอร์มของ Air bnb ให้ผู้เข้าร่วมอบรมดูด้วย

“การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสและจุดเริ่มต้นที่ดีของความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการขยายผลความสำเร็จสู่ชุมชนท่องเที่ยวที่มีศักยภาพทั่วประเทศ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมช่องการตลาดสร้างการรับรู้จะเข้าถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เชื่อมโยงจากแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง กระจายรายได้สู่แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนต่อไป” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวทิ้งท้าย

สถานีข่าว พช. CNS รายงาน



Related posts