สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงอย่างใกล้ชิด เผยพื้นที่ที่พบผู้ป่วยมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานในทุกสถานที่พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันกำจัดแหล่งเพราะพันธุ์ยุงลาย โดยยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า กรณีพบเด็กนักเรียนและครูชาวสิงคโปร์ติดเชื้อชิคุนกุนยาจำนวน 14 ราย หลังเดินทางมาเรียนรู้การบริการสังคมที่จังหวัดราชบุรี โดยมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อาเจียน ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าติดเชื้อโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี สำนักป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และสำนักระบาดวิทยา ส่งทีมสอบสวนควบคุมโรค ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมทันที โดยทีมสอบสวนควบคุมโรคได้ดำเนินมาตรการ ดังนี้ 1.ควบคุมโรคตามมาตรการ 0 3 7 สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ โดยการพ่นสารเคมีในวันที่ 5 มิ.ย. เป็นการพ่นแบบหมอกควันร่วมกับแบบละอองฝอยติดรถยนต์ 2.เฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ 3.สนับสนุนมุ้ง และแจกยาทากันยุง และ 4.แนะนำประชาชน ให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ล่าสุดได้รับรายงานว่านักเรียนและครูชาวสิงคโปร์ที่ติดเชื้อหายเป็นปกติ และได้เดินทางกลับประเทศแล้ว ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคจะประสานไปยังจุดประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHRNFP) ประเทศสิงคโปร์ เพื่อติดตามอาการต่อไป
โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ที่มีทั้งยุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย ตาแดงแต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่ในเด็กอาการไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่ โดยอาการเด่นชัดในผู้ใหญ่คือปวดข้อ อาจพบข้ออักเสบได้ ซึ่งเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อ จะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ และอาการจะหายภายใน 1-2 สัปดาห์ บางรายอาจมีอาการปวดข้อนานเป็นเดือนหรือเป็นปีได้ ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ต้องรักษาตามอาการจนกว่าร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานมากำจัดโรคได้
นายแพทย์สมาน กล่าวต่อไปว่า ทุกฝ่ายต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี เบอร์ติดต่อ 032310804 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 นายแพทย์สมาน กล่าวปิดท้าย