วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ ห้องประชุมจตุภัทร ชั้น 4 โรงพยาบาลนครปฐม นายแพทย์วีรศักดิ์ ครองลาภเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ สัมมนาวิชาการ การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และสิทธิการตายดีตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ และแพทย์หญิงนุชนารถ โตเหมือน ประธาน Service Plan สาขา palliative care จ.นครปฐม เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์
ตามที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 ได้รับรองสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติยังได้ออกประกาศกำหนดแนวทางการปฎิบัติในเรื่องนี้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่สถานบริการ สาธารณสุข ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ของสถานบริการสาธารณสุขเพื่อถือปฏิบัติตามโดยมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้
การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายใน เขตสุขภาพที่ 5 มีการดำเนินงานตาม Service plan ในเขตอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ พ.ศ.2557 เป็นต้นมา แต่บุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งและประชาชนทั่วไป ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่อง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เกี่ยวกับการทำหนังสือแสดงเจตนาในกรณีดังกล่าวรวมถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วย แบบประคับประคอง (Palliative Care)
ในการนี้ คณะกรรมการดำเนินงาน Palliative Care โรงพยาบาลนครปฐมและโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นได้รับการสนับสนุนจากสำนักคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)จัดทำโครงการสัมมนาวิชาการ”การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง” และสิทธิการตายดีตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนครปฐม เพื่อสร้างความตระหนักของการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และประเด็นกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
วัตถุประสงค์
1.เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในการแสดงเจตนา ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเพื่อยุตติการทรมานจากการเจ็บป่วยตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 และประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2.เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง การดูแลรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต และการพัฒนาระบบ การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้าน (home care)
การสัมนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ผู้สนใจ ผู้นำทางศาสนา ผู้นำชุมชน อสม. ชมรมผู้สูงอายุ ประชาชนภาคีเครือข่ายในจังหวัดนครปฐมและเขตสุขภาพที่5