วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2562 เวลา 11.00 น. ณ ห้องนพรัตน์ สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม มูลนิธิสังคมสุขใจ ผนึกกำลัง สจล. ลงนาม MOU ปั้นบัณฑิตยุคใหม่ ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ พร้อมต่อยอดงานวิจัย เพิ่มมูลค่าให้ห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ เพื่อตอบสนองตลาดและตอบโจทย์เทรนด์ความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะเทรนด์อาหารอินทรีย์ และสุขภาพที่กำลังมาแรง เติบโตสูง และได้รับความสนใจทั่วโลก มูลนิธิสังคมสุขใจ และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2562-2567) เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพบัณฑิตยุคใหม่ รวมถึงการพัฒนาต่อยอดการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ที่นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้ห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ของประเทศ รวมถึงการบูรณาการองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนระบบการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูป การตลาด และลดช่องว่างระหว่างภาคการผลิตและผู้บริโภค ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งและคุณค่าอาหารอินทรีย์ อาหารปลอดภัย และการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนในสังคม ได้มากขึ้น
พิธีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมูลนิธิสังคมสุขใจ โดยคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการมูลนิธิสังคมสุขใจ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดย รศ. ดร.อิทธิพล แจ้งชัด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สจล. โดยความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ไปคือ การพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาบัณฑิตยุคใหม่ที่มีคุณภาพ คือมีความรู้ความสามารถ และมีทักษะตรงกับความต้องการของธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยทางสามพรานโมเดล จะได้รับนักศึกษาของสจล. มาฝึกงานภาคฤดูร้อน หรือสหกิจศึกษาด้วย นอกจากนี้ยังจะมีการทำงานร่วมกันของทีมสามพรานโมเดล และคณาจารย์ในคณะต่างๆ เริ่มจากคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ เพื่อพัฒนางานวิจัย ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความเป็นธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงจะมีการนำผลงานวิจัยต่างๆ ไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่จริง เพื่อสร้างนวัตกรรมและการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และทั้งสองสถาบันฯ ยังจะได้ผสานความร่วมมือ และความเชี่ยวชาญ เพื่อให้บริการวิชาการ เผยแพร่องค์ความรู้ ให้แก่ชุมชนและสังคม ทั้งในรูปแบบของ การวิจัย การจัดหลักสูตรอบรม สัมมนา และการให้บริการวิชาการต่างๆ
นายอรุษ นวราช เลขานุการ มูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวว่า จากประสบการณ์กว่า 8 ปี ในการขับเคลื่อนสามพรานโมเดลเพื่อสร้างระบบอาหารสมดุล ภายใต้มูลนิธิสังคมสุขใจ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. ทางมูลนิธิฯได้มีการทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วน เพื่อยกระดับห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ทั้งระบบ คือทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงมั่นใจว่าจากองค์ความรู้ และจากการทำงานขับเคลื่อนที่ยังคงมีความเข้มข้นและต่อเนื่องนี้ จะทำให้ นักศึกษา และคณาจารย์ของสจล. สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎี และประสบการณ์จากการลงพื้นที่ปฏิบัติจริง ที่นำไปสู่การต่อยอด เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่ดีต่อทั้งห่วงโซ่อาหารอินทรีย์
โจทย์สำคัญของการขับเคลื่อนระบบอาหารอินทรีย์ คือการสร้างคน การบริหารจัดการความรู้ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งจากการทำงานกับทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ภายใต้กรอบ Social Movement Marketing ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างแรงบันดาลใจ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การลงพื้นที่จริงเพื่อลงมือทำจริง และการแชร์เส้นทางของการเรียนรู้ ซึ่งทั้ง 4 ส่วนนี้เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาและการขับเคลื่อน ทั้งนี้ภายใต้ Sampran Model Academy ที่ได้มีการก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่ เราจึงมีความพร้อมและยินดีที่จะได้ร่วมกับคณาจารย์ของสจล. เพื่อบูรณาการความรู้และความเชี่ยวชาญ สู่การพัฒนาคนทั้งห่วงโซ่ ตลอดจน ยินดีที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อจะได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ให้งานขับเคลื่อนระบบอาหารสมดุลมีความรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทุกคนในห่วงโซ่ได้รับประโยชน์
รศ. ดร.อิทธิพล แจ้งชัด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีช่องว่างของคุณภาพคนกับความต้องการของตลาดอยู่มาก ดังนั้นรูปธรรมที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นทันทีจากความร่วมมือในครั้งนี้ คือ การยกระดับคุณภาพบัณฑิต ซึ่งจากจุดแข็งของสจล. ที่เน้นสร้างบัณฑิตแฮนด์ออน คือเป็นบัณฑิตที่มีความครบเครื่องทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เป็นคนคิดเป็นทำเป็น ใส่ใจสังคม สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผู้ประกอบการได้ในอนาคต มีทักษะทางด้าน Hard skills คือความรู้ทางวิชาการ และ Soft skills คือทักษะที่จำเป็นในการทำงาน ควบคู่กัน ซึ่งจากความร่วมมือของสามพรานโมเดล ที่จะได้เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานอยู่ในพื้นที่จริง จะทำให้นักศึกษาได้รู้ความต้องการของตนเอง มีความรอบรู้ มีความเชี่ยวชาญในด้านปฏิบัติ เมื่อจบแล้วก็สามารถทำงานได้เลย
ผมจึงมั่นใจว่า จากความร่วมมือครั้งนี้ เราจะสามารถผลิตบุคลากรที่สามารถตอบโจทย์ เทรนด์ความเปลี่ยนแปลงของโลกด้านสุขภาพ และอาหารอินทรีย์ รวมถึงสังคมและความต้องการของตลาด ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ทั้งนี้คุณภาพของคนที่พัฒนาขึ้นนี้ ยังจะช่วยทำให้ Learning Curve ของเด็กเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานนั้นสั้นลง ปัญหาเด็กเปลี่ยนงานบ่อย เพราะไม่รู้ว่าตัวเองชอบ หรือไม่ชอบงานที่ทำ ก็จะลดลง เรียกว่า วินวิน ตอบโจทย์ทุกส่วน และประเทศได้
รศ. ดร.อิทธิพล แจ้งชัด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากความร่วมมือนี้ยังจะนำไปสู่การบริการวิชาการสู่สังคม ซึ่งจะได้หารือกับทางมูลนิธิสังคมสุขใจ เพื่อจัดทำหลักสูตรและการอบรมระยะสั้น เพื่อให้คนในที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ ได้มีโอกาสมาเพิ่มเติม ยกระดับ และเพิ่มพูนความรู้ ใหม่ๆ ด้วย