ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ ๕ เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาเครือข่ายบริการรับบริจาคอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะ ในส่วนภูมิภาค ครั้งที่ ๑ ปี ๒๕๖๒

วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ ห้องประชุมจตุรภัทร โรงพยาบาลนครปฐม นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงษ์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ ๕ เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาเครือข่ายบริการรับบริจาคอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะ ในส่วนภูมิภาค ครั้งที่ ๑ ปี ๒๕๖๒ และนายแพทย์วีรศักดิ์ ครองลาภเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ซึ่งจัดโดย ชมรมผู้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย ร่วมกับ โรงพยาบาลราชวิถี สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทยและโรงพยาบาลนครปฐม ในระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒

นายแพทย์วีรศักดิ์ ครองลาภเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม กล่าวรายงานว่า การปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ transplantation) เป็นการรักษาผู้ป่วยอวัยวะสำคัญล้มเหลวระยะสุดท้ายที่ดีที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยภายหลังการปลูกถ่ายอวัยวะสูงขึ้น โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไต (Kidney transplantation) ให้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวและหน่วยงานภาครัฐลงได้ในระยะยาว ปัญหาสำคัญของการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ การขาดแคลนอวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่าย ทำให้ผู้ป่วยที่รอรับอวัยวะต้องเสียชีวิตก่อนที่จะได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ อีกทั้งในระหว่างการรอรับอวัยวะ ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วย ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ประเทศไทยมีสถิติผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี ผู้ป่วยเหล่านี้เข้าถึงบริการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องมากที่สุด รองลงมา คือ ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และน้อยที่สุด คือ การปลูกถ่ายไต ทั้งๆที่เป็นการบำบัดทดแทนไตที่ดีที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากการขาดแคลนไตที่จะนำไปปลูกถ่ายเพื่อการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ปัจจุบันในโรงพยาบาลต่างๆ มีผู้ป่วยเสียชีวิตสมองตายที่อาจเป็นผู้บริจาคอวัยวะได้อยู่จำนวนมาก แต่โรงพยาบาลไม่มีระบบการรับบริจาคอวัยวะ จากผู้ป่วยเสียชีวิตสมองตายที่ชัดเจน ทำให้บุคลากรทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการบริจาคอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องได้

ดังนั้น ชมรมผู้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาเครือข่ายบริการรับบริจาคอวัยวะเพื่อการ ปลูกถ่ายอวัยวะในส่วนภูมิภาคของประเทศไทยขึ้น เพื่อให้บุคลากรทีมสุขภาพในโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค มีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการรับบริจาคอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะ สามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

โดยมีวัตถุประสงค์
๑ เพื่อพัฒนาระบบการบริจาคอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะ ในโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค
๒ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้องในกระบวนการรับบริจาคอวัยวะ
๓ เพื่อให้การประสานงานในกระบวนการรับบริจาคอวัยวะมีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์ที่ดี
๔ เพื่อสร้างเครือข่ายบริการรับบริจาคอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะในส่วนภูมิภาคที่เข้มแข็ง

กลุ่มเป้าหมาย
แพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการรับบริจาคอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะ ในโรงพยาบาลเครือข่ายเขตสุขภาพที่ ๕ และโรงพยาบาลที่สนใจ (ระดับ M1 ขึ้นไป) จำนวน ๑๐๐ คน

Related posts