วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2568 ณ บ้านท้ายหาดรีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชนการประชุมเชิงปฏิบัติการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ทำงานด้านวิทยุชุมชน “ภาคกลาง, ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก”
“โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชน” มีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานของวิทยุชุมชนให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ด้วยการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของเครือข่ายกลุ่มของวิทยุชุมชนในการกำกับดูแลกันเอง โดยตัวมาตรฐานทางจริยธรรมที่จัดทำขึ้น จะเป็นตัวที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของวิทยุชุมชนกับวิทยุทดลองประกอบกิจการอื่นๆ ทำให้วิทยุชุมชนเกิดความน่าเชื่อถือจากสังคมภายนอก และเป็นการสร้างเครือข่ายวิทยุชุมชนในการฝึกการกำกับดูแลกันเอง ให้ข้อมูลข่าวสารที่สื่อสารมีประโยชน์กับประชาชนในชุมชนจริงๆ ประชาชนในพื้นที่สามารถมีช่องทางร้องเรียนหากพบว่า วิทยุชุมชนของตนมีการนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์กับชุมชน หรือมีการทำ ผิดหลักการหรือเจตนารมณ์ของวิทยุชุมชนขึ้นในมิติการู้เท่าทันสื่อ
เพราะในปัจจุบันจากการที่ภูมิทัศน์สื่อได้เปลี่ยนไป การสื่อสารได้เข้าสู่ยุคหลอมรวมข้อมูลข่าวสารเชื่อมถึงกัน การพัฒนาให้เครือข่ายวิทยุชุมชนสามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปจึงมีความจำเป็น รวมทั้งการทำให้เครือข่ายวิทยุชุมชนสามารถวิเคราะห์สื่อต่างๆ ให้เกิดความรู้เท่าทัน เพราะสถานีวิทยุชุมชน มีหน้าที่ในการกระจายข่าวสารสู่ชุมชนและสังคม หากนักจัดรายการวิทยุชุมชน ไม่สามารถวิเคราะห์และรู้เท่าทันถึงข้อมูลหรือข่าวสารที่รับมาได้ เมื่อสื่อสารออกไปก็จะทำให้ชุมชนหรือผู้รับสารรับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปได้ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา
ในภารกิจการปฏิรูปสื่อวิทยุชุมชน ถือได้ว่าเป็นรูปธรรมหนึ่งที่มีความชัดเจนในมิติของการเปลี่ยนมือการเป็นเจ้าของคลื่นความถี่จากรัฐมาเป็นของประชาชน แต่การพัฒนาให้วิทยุชุมชนเป็นสื่อที่มีคุณภาพ มีศักยภาพในการทำการผลิตข่าวสารดีๆ สู่สังคม มีมาตรฐานทางจริยธรรมในการทำงานในการกำกับดูแลกันเอง และนำไปสู่การยอมรับของประชาชนในสังคม ถือเป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญ และการสนับสนุนจากหลายฝ่าย โครงการ พัฒนามาตรฐานจริยธรรมและการรู้เท่าทันสื่อของเครือข่ายวิทยุชุมชนจึงมีความจำเป็น และถือเป็นอีกขั้นหนึ่งของพัฒนาการที่สำคัญของเครือข่ายวิทยุชุมชนในสังคมไทย
“โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชน” ขึ้นภายใต้ความรับผิดชอบของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.สุรวุฒน์ ช่อไม้ทอง คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคณะทีมงาน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ รวมถึงภาคประชาสังคมและชุมชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สื่อ ที่ปลอดภัยระดับชุมชน ตำบล อำเภอ และระดับนโยบายจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของสถานีวิทยุชุมชน นักจัดรายการ ผู้สื่อข่าวชุมชน และประชาชนที่สนใจ เพื่อให้ชุมชนมีบุคลากรที่มีความสามารถในการจัดการระบบนิเวศการสื่อสารที่สร้างสรรค์ และพัฒนานักจัดรายการ ผู้สื่อข่าวชุมชนรุ่นใหม่ ใน 4 ภูมิภาคนำความคิด/ประเด็น/ข้อมูลจากพื้นที่มาผลิตสื่อที่เป็นข่าวสารที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ ทั้งเพื่อให้เกิดพื้นที่ต้นแบบในการผลิตสื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ และเกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังชุมชนต่างๆ อย่างหัวถึง
กระบวนการขับเคลื่อนและการทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพสื่อวิทยุ/สื่อท้องถิ่นนั้น ถึงแม้จะมีการขยับไปเป็นรูปแบบออนไลน์ สถานการณ์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป แต่คนยังฟังสื่อวิทยุอยู่ อาจจะเป็นการฟังผ่านออนไลน์หรืออื่นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์สื่อ จากการหลอมรวมสื่อเพื่อใช้สื่อชุมชนเกิดการ พัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ที่สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละภูมิภาค สิ่งสำคัญคือการสื่อสารของสื่อชุมชน ต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้ฟังมีโจทย์ในการออกแบบร่วมกัน เช่น การมีส่วนร่วมในการผลิตเนื้อหา และสะท้อนความคิดเห็นในชุมชน ในบางพื้นที่ๆ มีความขัดแย้ง เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีช่องว่างของสังคมซึ่งสื่อสาธารณะ ต้องประสานช่องว่างด้วยใช้สื่อชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ การขับเคลื่อนและการทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพวิทยุชุมชน มุ่งเน้นการพัฒนาใน กลุ่มเครือข่ายวิทยุชุมชน ในรูปแบบของวิทยุประกอบธุรกิจ วิทยุสาธารณะ สือวิทยุชุมชนและสำนักข่าวท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค ทั้งนี้ทำให้เห็นถึงบทบาทของสื่อชุมชนในการสื่อสารประเด็นทางสังคมต่างๆไม่ว่าจะเป็นประเด็นเด็ก เยาวชน สุขภาพ ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม ผู้หญิง คนพิการ ผู้สูงอายุ อาชีพ เศรษฐกิจ ชุมชน ท่องเที่ยว ชุมชน ศาสนา ชาติพันธุ์ เกษตร เพื่อเป็นช่องทางบรรเทาทุกข์ของประชาชน รับข้อร้องเรียนบรรเทาสาธารณภัย และการรับแจ้งอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยมีกลไกที่สำคัญ 3 กลไก ประกอบด้วย กลในการปกป้องและป้องกัน กลไกในการเฝ้าระวัง กลไกในการคุ้มครองเพื่อสร้างสรรค์สื่อ และเป็นโอกาส ทางเลือก หมายรวมถึงการสร้างพื้นที่กลาง พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่เรียนรู้ และเพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการเพื่อสร้างเครือข่ายสื่อชุมชน 4 ภูมิภาค การพัฒนาศักยภาพบุคลากรวิทย์/สื่อชุมชนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระดับพื้นที่และการพัฒนานวัตกรรมสื่อชุมชน/วิทยุ โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อเสนอนโยบายสื่อ กฎหมายและกฎระเบียบ จนเกิด “วาระสื่อ” ในระดับภาคและระดับประเทศต่อไป
คู่มือเล่มนี้ จึงเป็นหลักสูตรต้นแบบ เพื่อพัฒนาศักยภาพของสถานีวิทยุชุมชน นักจัดรายการ ผู้สื่อข่าวชุมชน และประชาชนที่สนใจเพื่อให้ชุมชนมีบุคลากรที่มีความสามารถในการจัดการระบบนิเวศการสื่อสาร ที่สร้างสรรค์ ใน 4 ภูมิภาค ให้สามารถนำความคิด/ ประเด็น/ ข้อมูลจากพื้นที่มาผลิตสื่อที่เป็นข่าวสารที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ และเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือคนทำงานด้านวิทยุชุมชน/ พื้นที่ต้นแบบในการผลิตสื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมทั้งเกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังชุมชนต่างๆ อย่างทั่วถึง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเพื่อพัฒนาโครงการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถานีวิทยุ การสื่อสารหลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์และวิทยุชุมชน เป็นพื้นที่ช่วยเหลือในประเด็นเร่งด่วนของชุมชนที่ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งเนื้อหาจะอ้างอิงกับบริบทของกลุ่มเป้าหมาย แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ผลลัพธ์การเรียนรู้ สื่อหรือแหล่งเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถนำไปใช้งานได้จริง หรือนำไปบูรณาการสร้างสรรค์กิจกรรมหรือกระบวนการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ได้