ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ร่วมกับเจ้ากรมการทหารช่าง อันเชิญหลวงพ่อแก่นจันทน์ พระคู่บ้านคู่เมือง ลงแพแห่ไปตามแม่น้ำแม่กลองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ครบ 208 ปี ของงานสมโภชศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ระหว่างวันที่ 11-20 กุมภาพันธ์ มีประชาชนนำดอกไม้ เข้าสักการะขอพรเป็นสิริมงคลจำนวนมาก
( 6 ก.พ. 68 ) นางสาวฐิติลักษณ์ คำพา ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พลโท สิรภพ ศุภวานิช เจ้ากรมการทหารช่าง พลตำรวจตรี วชิรพงษ์ อมราพิทักษ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นางสาวกุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เขต 1 นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี นายศักดิ์ชัย พิศาลผล นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี นายสินาด รุ่งจรูญ นายกเทศมนตรีตำบลหลักเมือง พร้อมส่วนราชการ ร่วมอันเชิญองค์หลวงพ่อแก่นจันทน์ จากวัดช่องลมวรวิหาร พระอารามหลวง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองชาวราชบุรี ขึ้นบนแพของหน่วยทหาร บริเวณเขื่อนรัฐประชาพัฒนา อ.เมือง จ.ราชบุรี เพื่อล่องไปตามลำน้ำแม่กลองถึงหน้าวัดอมรินทรารามแล้วเลี้ยวกลับไปที่ค่ายภาณุรังษี เพื่อนำขึ้นประดิษฐานชั่วคราวระหว่างการจัดงานสักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ระหว่างวันที่ 11-20 กุมภาพันธ์ ให้ประชาชนได้กราบสักการะขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล
โดยตลอดระยะทาง ที่ได้อันเชิญองค์หลวงพ่อแก่นจันทน์ล่องไปตามลำน้ำ มีประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองทราบข่าว ได้นำเงินพร้อมดอกไม้ลงแพมาร่วมทำบุญในการจัดงานปีนี้อย่างยิ่งใหญ่ ถือเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ครบ 208 ปี ที่ได้จัดพิธีดังกล่าวแห่หลวงพ่อแก่นจันทน์ทางน้ำขึ้น
สำหรับประวัติหลวงพ่อแก่นจันทน์ พระคู่บ้านคู่เมืองราชบุรี เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร สร้างด้วยโลหะทองคำสัมฤทธิ์ ส่วนล่างแกะสลักจากไม้จันทน์ ซึ่งเป็นไม้เนื้อหอม สูงประมาณ 2.26 เมตร มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อแก่นจันทน์สร้างขึ้นที่ จ.กาญจนบุรี โดยชายคนหนึ่งเดินทางแสวงหาของป่าแล้วเจอเสือ จึงวิ่งหนีขึ้นไปบนต้นไม้ต้นหนึ่ง และอธิษฐานว่าถ้ารอดชีวิตจะนำต้นไม้ต้นนี้ไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ซึ่งปรากฏว่าก็รอดชีวิตจริง ๆ จึงชักชวนชาวบ้านเข้ามาตัดไม้เพื่อไปแกะสลักพระพุทธรูป ขณะตัดต้นไม้พบว่าต้นไม้นั้นเป็นไม้จันทน์หอมมีราคาแพง และหายาก เมื่อนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปเสร็จแล้ว ได้นำมาประดิษฐานไว้ที่บ้านแก่งหลวง ต่อมาเกิดฝนตกใหญ่ พัดหลวงพ่อแก่นจันทน์ลอยไปตามลำน้ำแม่กลอง หลายวัดพยายามฉุดไว้ เพื่อนำมาประดิษฐาน แต่ก็ไม่สำเร็จ จนท่านลอยมาถึงหน้าวัดช่องลม เจ้าอาวาสได้อาราธนา ปรากฏว่าสามารถชะลอท่านขึ้นมาโดยง่าย นับแต่นั้นมาท่านก็ประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้ ทุกปีเมื่อมีเทศกาลสำคัญ ทางจังหวัดราชบุรีจะมีพิธีแห่หลวงพ่อแก่นจันทน์ไปรอบเมือง และกรมการทหารช่างยังได้อันเชิญหลวงพ่อมาประดิษฐานที่ค่าย เพื่อให้ประชาชน สักการะบูชา ตราบถึงปัจจุบันนี้
ส่วนประวัติศาลเจ้าพ่อหลักเมืองราชบุรี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในยุคก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ มิได้มีการกล่าวหรืออ้างอิงในเรื่องของหลักเมือง กระทั่งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้มีการย้ายเมืองราชบุรี และปรากฏหลักฐานว่า ทรงจัดให้มีพิธีฝังหลักเมือง มีการสมโภช 3 วัน 3 คืน ตั้งแต่วันอังคาร แรม 13 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู จุลศักราช 1179 พ.ศ. 2360 จนถึงวันพฤหัสบดี แรม 15 ค่ำ เวลา 7 นาฬิกา ถึงกำหนดฤกษ์ฝังหลักเมือง สรุปได้ว่า หลักเมืองราชบุรีเรียกกันว่า ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนั้น ตั้งขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อฝังหลักเมืองตามกำหนดฤกษ์แล้ว จึงจัดให้มีการก่อสร้างกำแพงเมืองก่อด้วยอิฐแดงถือปูน มีใบเสมา มีป้อม 6 ป้อม มีประตู 6 ประตู และยังก่อสร้างสิ่งอื่นๆด้วย
ปัจจุบันศาลเจ้าพ่อหลักเมืองยังคงอยู่ในบริเวณกำแพงเมืองเก่า ถึงแม้นว่าในปี พ.ศ. 2440 ได้มีการย้ายศาลากลางจังหวัด ซึ่งเดิมตั้งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง รวมกันกับศาลาว่าการมณฑลฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง แต่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองก็ยังคงตั้งอยู่ที่เดิมต่อมาในปี พ.ศ. 2448 ในบริเวณกำแพงเมืองได้เป็นที่ตั้งของกองพลทหารบกที่ 4 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของค่ายทหาร ค่ายภาณุรังษี มีกรมการทหารช่าง และจังหวัดทหารบกราชบุรี เมื่อกรมการทหารช่างตั้งอยู่ในกำแพงเมือง ซึ่งมีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอยู่ด้วย จึงได้ดูแลทำนุบำรุงรักษา บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ภายหลังกรมศิลปากรได้ออกแบบสร้างศาลขึ้นมาใหม่ และในปี พ.ศ. 2527 กรมการทหารช่างได้ออกแบบและซ่อมแซมปรับปรุงใหม่อย่างสวยงาม โดยศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นศาลที่ศักดิ์สิทธิ์ มีประชาชนเข้ามากราบไหว้ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล ทางฝ่ายทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดงานสักการะขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการสมโภชศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มาปิดทอง สรงน้ำ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีไทย โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยดูแลความสะอาดเรียบร้อยตราบจนมาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2568 นี้เป็นปีที่ครบ 208 ปี ในการตั้งศาลหลักเมืองราชบุรี ทางกรมการทหารช่างจึงได้จัดพิธีแห่องค์หลวงพ่อแก่นจันทน์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมืองราชบุรี ภายในงานยังมีบริการเช่าชุดไทยโบราณไว้ให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวมาร่วมแต่งกายย้อนยุค เพื่อเป็นการสืบสานอนุรักษ์งานประเพณีที่มีการจัดงานมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย เช่น การจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ของดี ของเด่น นำมาจัดจำหน่ายระหว่างวันที่ 11-20 กุมภาพันธ์ บริเวณกรมการทหารช่างให้นักท่องเที่ยวได้มาร่วมงานอย่างมีความสุข
/////////////////////////////////////////////////////////////////////
พันธุ์ – จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี