วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์พงศ์ ป้อมปราณี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดโครงการอบรมคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Ethics) ณ ห้องประชุม 3/1 ชั้น 3 อาคารสิริวรปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (รูปแบบ online และ Onsite) โดยมีศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม ประธานคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และคณะอนุกรรมการฯ ให้การต้อนรับ
ในการนี้ อาจารย์ ดร.อรพิณ พัฒนผล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาได้กล่าวรายงานถึงความเป็นมาของโครงการฯ ว่า ปัจจุบันองค์กรที่ผลิตเทคโนโลยีระดับโลกต่าง ๆ เช่น Microsoft Facebook Twitter (เปลี่ยนชื่อเป็น X) และ Google ต่างหันมาตื่นตัวเรื่องของจริยธรรมในการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เนื่องจาก AI เข้ามามีบทบาทในกิจกรรมด้านต่าง ๆ ของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ด้านการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ ธุรกิจ การรับชำระเงิน การธนาคาร และการค้าอย่างเต็มรูปแบบ นอกเหนือจากการแบ่งปันข้อมูล การปฏิบัติงานเพื่อให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยการนำ AI มาพัฒนาเป็นนวัตกรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมเริ่มมีการศึกษา วิจัย ที่นำ AI มาประยุกต์ใช้ ดังนั้น เพื่อให้ผู้วิจัยที่ใช้ AI ในการศึกษาวิจัยโดยคำนึงคุณธรรม จริยธรรม สิทธิ เสรีภาพ ความเป็นมนุษย์ สถาบันวิจัยและพัฒนาได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อการพัฒนางานวิจัยของคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พิจารณา ทบทวน ให้ความเห็นชอบในโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ว่าควรพัฒนาเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับแนวคิดวิจัยและแนวทางสากลที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและขั้นตอนในการประเมินจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ และยังเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานตามมาตรฐานของคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักการและขั้นตอนในการประเมินจริยธรมมปัญญาประดิษฐ์
สำหรับการอบรมคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ครั้งนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านปัญญาประดิษฐ์ 2 ท่านคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายหัวข้อ “แนวทางการวิจัย AI Ethics : จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ และ ดร.ทวีวัฒน์ เหลืองวิริยะ ผู้อำนวยการหลักสูตร และอาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายหัวข้อ “ขั้นตอนในการประเมินจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์” ปิดท้ายด้วยการเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์กับทีมวิทยากร