วันที่ 23 มกราคม 2567 เวลา 18.00 น. นางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิด นิทรรศการ “ART EXPLORER” ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลศาลายา ชั้น 1 จังหวัดนครปฐม โดยได้กล่าวแสดงความชื่นชมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ที่เล็งเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมทวารวดีในจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า นครปฐมเป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของไทยมาตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยมีเมืองโบราณนครปฐมเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเมืองโบราณลุ่มน้ำเจ้าพระยา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีสันนิษฐานว่าน่าจะเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี และอาจกล่าวได้ว่าจังหวัดนครปฐมน่าจะเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่สำคัญ ซึ่งความสำคัญของวัฒนธรรมทวารวดีนั้นยังคงมีให้เห็นและได้ศึกษาเรียนรู้อยู่ทั่วไป ทั้งจากโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปะแบบทวารวดี ตลอดจนเรื่องเล่าตำนานที่เล่าขานของนครปฐมอย่างพระยากง พระยาพาน ตลอดจนชื่อบ้านนามเมือง เป็นต้น อีกทั้งชื่นชมที่มหาวิทยาลัยได้นำประเด็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมมาบูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย และการพัฒนาคุณค่าของทุนวัฒนธรรมทวารวดีให้เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ของจังหวัดนครปฐม ที่สามารถนำไปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคตได้ ขณะเดียวกันก็สามารถปลูกฝังและสร้างการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาได้เห็นถึงความสำคัญของทุนทางศิลปวัฒนธรรมและจะเป็นผู้ที่สามารถสืบทอดคุณค่าและความสำคัญของทุนวัฒนธรรมนี้ได้ และรู้สึกปลื้มใจกับผลงานของนักศึกษาได้ถูกนำมาสู่การออกแบบสร้างสรรค์อย่างมีคุณภาพ อันเป็นการสะท้อนการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติอย่างแท้จริง ที่มุ่งเน้นให้นักศึกษา คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น จะเป็นหนทางการสู่การมีงานทำ และจะเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวรรณ ปิ่นแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ ได้กล่าวถึงที่มาของการจัด นิทรรศการ “ART EXPLORER” ว่า นครปฐมเป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 โดยเมืองโบราณนครปฐมเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเมืองโบราณลุ่มน้ำเจ้าพระยา กล่าวคือ นครปฐมถือเป็นเมืองโบราณสำคัญแห่งหนึ่งในยุคของอารยธรรมทวารวดี ซึ่งนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีสันนิษฐานว่าน่าจะเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี และจากหลักฐานทางโบราณคดีอาจกล่าวได้ว่าจังหวัดนครปฐมน่าจะเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่สำคัญตามข้อบ่งชี้ทางโบราณคดีและหลักฐานศิลปกรรมต่างๆ ในยุคสมัยทวารวดี โดยเฉพาะศาสนสถานขนาดใหญ่ หลักฐานการเผยแพร่พุทธศาสนาที่สำคัญคือ ธรรมจักรและกวางหมอบ และมีการพบเหรียญเงินจารึก กล่าวถึง “ศรีทวารวตี ศวรปุณยะ” แปลว่า บุญของพระราชาแห่งศรีทวารวดี หรือพระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ โดยพบในบริเวณเมืองโบราณนครปฐมซึ่งเป็นการยืนยันถึงอาณาจักรของกษัตริย์พระองค์หนึ่งชื่อว่า “ทวารวดี” จึงทำให้เชื่อได้ว่าเมืองโบราณนครปฐมอาจเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี
หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมทวารวดีในจังหวัดนครปฐม คือ ศิลปกรรมทวารวดีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา วิถีชีวิต โดยจะพบอยู่ในลักษณะของสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ข้าวของเครื่องใช้ ที่มีความงดงามจนกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบศิลปะไทยในปัจจุบัน ชื่อที่เรียกว่า “ศิลปะทวารวดี” ตลอดจนมีตำนานเรื่องเล่าถึงสถานที่สำคัญที่มีชื่อบ้านนามเมืองในจังหวัดนครปฐมที่บ่งชี้ถึงเรื่องราวทีสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของยุคสมัย โดยพื้นที่ของเมืองนครปฐมโบราณครอบคลุมบริเวณเมืองโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โดยมีศูนย์กลางของเมืองอยู่ที่บริเวณวัดพระประโทณเจดีย์ และมีพื้นที่โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระปฐมเจดีย์ วัดพระเมรุ พระประโทนเจีดีย์ เจดีย์จุลประโทน เนินพระดอนยายหอม วัดพระงาม วัดธรรมศาลา
จากความสำคัญข้างต้น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญอารยธรรมทวารวดีในจังหวัดนครปฐม และได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในกรอบการวิจัย “การจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่น”ภายใต้แผนงานย่อยรายประเด็น “การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น” ในโครงการทวารวดีนครปฐม : สร้างคุณค่า สร้างมูลค่า สร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่น ดังนั้น มหาวิทยาลัยโดยสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงได้นำประเด็นในงานวิจัยมาเป็นส่วนหนึ่งมาบรูณาการเรียนการสอนในรายวิชาออกแบบนิเทศศิลป์นิพนธ์ในลักษณะโครงงานให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เพื่อให้นักศึกษานำทุนทางวัฒนธรรมทวารวดีในจังหวัดนครปฐมให้กลายเป็นกระแสซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) มาสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มที่มีอิทธิพลต่อสังคมและนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครปฐม อีกทั้งให้เกิดการเรียนรู้ถึงคุณค่าความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและท้องถิ่นของตน และสามารถพัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการวัฒนธรรมได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวรรณ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการออกแบบนิเทศศิลป์นิพนธ์ สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ เป็นหนึ่งกระบวนการสำคัญในการจัดการเรียนการสอนเพื่อที่จะพัฒนาให้นักศึกษาให้เป็นบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีความรู้ ประสบการณ์ และทักษะทางด้านการออกแบบนิเทศศิลป์ คือ การเรียนรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติงานจริง ที่ใช้กระบวนการศึกษาค้นคว้าเพื่อนำมาสู่การแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์ทางการออกแบบ ซึ่งในปีนี้นักศึกษาออกสำรวจคุณค่าและความสำคัญของอารยธรรมทวารวดีในจังหวัดนครปฐมเพื่อมาเป็นโจทย์ในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านการออกแบบตามความสนใจ ภายใต้แนวคิด “ART EXPLORER” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และเห็นคุณค่าความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่น และนำกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ทางการออกแบบทางนิเทศศิลป์เพื่อแก้ปัญหาทางการออกแบบให้กับชุมชนท้องถิ่น หรือสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแก้ปัญหาทางด้านการออกแบบทางนิเทศศิลป์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำไปสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของตนเองในอนาคต เป็นการนำเสนอการความรู้ ความคิด ทักษะ ตามอัตลักษณ์ของบัณฑิตนักปฏิบัติสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ และเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของนักศึกษาและอาจารย์สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ที่ใช้ความตั้งใจทุมเทเพื่อให้ได้รูปแบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีประโยชน์ต่อนักศึกษา บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยภายในนิทรรศการมีโครงการเกี่ยวกับการออกแบบนิเทศศิลป์ รวมโครงการทั้งสิ้น 20 โครงการ จัดระหว่างวันที่ 23 – 29 มกราคม 2567 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลศาลายา ชั้น 1 จังหวัดนครปฐม
ในนามของผู้จัด นิทรรศการ “ART EXPLORER” ขอขอบพระคุณ รองผู้ว่าราขการจังหวัดนครปฐม (นางสาวอโรชา นันทมนตรี) คุณสกุลพงษ์ พงษ์พิจิตร ผู้จัดการ แผนกการตลาด ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ศาลายา วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม และคณาจารย์ ขอบคุณ ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม ดร.ชัยยุธ มณีรัตน์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์พงศ์ ป้อมปราณี รองอธิการบดี ให้เกียรติในการมอบเกียรติบัตรให้กับนักศึกษาที่ได้รับรางวัล สร้างสรรค์ผลงานออกแบบ ภายใต้กิจกรรม การสร้างนักออกแบบทางวัฒนธรรม “Cultural Young Designer Talent” จากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มา ณ โอกาสนี้