วันที่ 22 มกราคม 2567 อาจารย์ ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการตรวจรับรองคุณภาพคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (National Ethics Committee Accreditation System of Thailand : NECAST) ระหว่างวันที่ 22 – 24 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 3 ห้อง 3/1 อาคารสิริวรปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์พงศ์ ป้อมปราณี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ
ศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม ประธานคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (Ethics Committee : EC) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม กล่าวถึงโครงการตรวจรับรองคุณภาพคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (National Ethics Committee Accreditation System of Thailand : NECAST) ในครั้งนี้ว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตระหนักถึงความสำคัญของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาทบทวนด้านจริยธรรม การวิจัยของข้อเสนอโครงร่างการวิจัยในมนุษย์ เพื่อปกป้อง คุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เข้าร่วมการวิจัยหรืออาสาสมัครที่เข้าสู่โครงการวิจัย การทำหน้าที่ของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยจึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาให้งานวิจัยของสถาบันนั้น ๆ มีคุณภาพ ปลอดภัยแก่อาสาสมัคร ได้ผลงานวิจัยที่เชื่อถือได้ และเกิดประโยชน์ ต่อสังคม จำเป็นจะต้องมีระบบและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่สถาบัน นักวิจัย อาสาสมัคร และชุมชน ว่ากระบวนการวิจัยจะเป็นไปตามมาตรฐานสากลซึ่งกลไกดังกล่าวจะสำเร็จได้จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้กำหนดนโยบายการวิจัยระดับประเทศ ผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย และสถาบันที่ดำเนินงานวิจัย โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม การจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ การริเริ่มขับเคลื่อนและประสาน การดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์การส่งเสริมและสนับสนุน การพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม และการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณ หรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ดำเนินงานด้านมาตรฐานการวิจัยในมนุษย์ จึงได้สร้างระบบรับรองคุณภาพคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (National Ethics Committee Accreditation System of Thailand : NECAST) เพื่อการพัฒนาคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และกำกับดูแลมาตรฐานการวิจัยในมนุษย์
คณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ประจำสถาบันต้องมีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้ที่สามารถทำหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เข้าร่วมการวิจัยหรืออาสาสมัครที่เข้าสู่โครงการวิจัย การทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ประจำสถาบัน จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาให้งานวิจัยของสถาบันนั้น มีคุณภาพ ปลอดภัยแก่อาสาสมัคร และเกิดประโยชน์ต่อสังคม จำเป็นต้องมีโครงสร้างที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติ สถาบัน องค์กร และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงจัดสรรทุนดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนามาตรฐานการวิจัยในคน และผลักดันให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยฯ และผู้วิจัยของสถาบันฯ มีการพัฒนา มีระบบรับรองคุณภาพคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย ต้องเป็นระบบส่งเสริมและพัฒนาสร้างความเข้มแข็ง และให้การรับรองคุณภาพระดับประเทศ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จึงเห็นสมควรให้มีระบบรับรองคุณภาพคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มีระบบรับรองคุณภาพคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ส่งเสริมและขับเคลื่อนให้การวิจัยในมนุษย์สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร ตันณีกุล เลขานุการคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ กล่าวเสริมว่า การตรวจรับรองคุณภาพคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคน (Research Ethic Committee : REC) คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน (Institutional Review Board : IRB) คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐาน สาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (International Electrotechnical Commission : IEC) ประกอบด้วย 1) พันเอก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย ไตรวารี ผู้ประสานงานการตรวจรับรอง 2) พันเอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไนยรัฐ ประสงค์สุข หัวหน้าผู้ตรวจรับรอง 3) พันเอก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิพันธุ์ สุขสุเมฆ ผู้ตรวจรับรอง และ 4) พันโทหญิง นิลภา สุขเจริญ ผู้ตรวจรับรอง และแนะนำคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐมชุดปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย 1) ศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม ประธานคณะอนุกรรมการฯ 2) รองศาสตราจารย์ ดร.กัญญดา ประจุศิลป 3) รองศาสตราจารย์ ดร.สุนุตตรา ตะบูนพงศ์ 4) รองศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง ดร.ลาวัลย์ ศรัทธาพุทธ 5) รองศาสตราจารย์ ดร.จิตติรัตน์ แสงเลิศอุทัย 6) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โยธิน ศรีโสภา 7) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.ชนาธิป ชินะนาวิน 8) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล ผู้มีจรรยา 9) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิศิษฐ์ ฤทธิบุญไชย 10) นางสาวชุติกาญจน์ ศรีณัฐกุล 11) รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร ตันณีกุล เลขานุการ และ 12) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เยาวภา บัวเวช ผู้ช่วยเลขานุการ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลและสนับสนุนการบริหารจัดการของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์พงศ์ ป้อมปราณี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร กล่าวต่อว่า สำหรับการขอรับการประเมินรับรองคุณภาพฯ ในครั้งนี้ คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (NECAST) ได้เข้ามาสังเกตการณ์ประชุมประจำเดือนของคณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม วันที่ 23 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 3 ห้อง 3/1 อาคารสิริวรปัญญา เวลา 09.00 น. ภายหลังจากการปิดประชุมประจำเดือน เป็นการให้สัมภาษณ์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารจัดการส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยืนยันข้อมูลและให้ข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ บุคคลที่เข้ารับการสัมภาษณ์ ได้แก่ 1) ศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม ประธานคณะอนุกรรมการฯ 2) รองศาสตราจารย์ ดร.กัญญดา ประจุศิลป 3) รองศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง ดร.ลาวัลย์ ศรัทธาพุทธ 4) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.ชนาธิป ชินะนาวิน 5) รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร ตันณีกุล เลขานุการ และ 6) นางสาวเบญจมาภรณ์ ปลอดดี ผู้ช่วยเลขานุการ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการสัมภาษณ์ (ผู้ตรวจรับรอง) ได้แก่ 1) พัน.เอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไนยรัฐ ประสงค์สุข หัวหน้าผู้ตรวจรับรอง 2) พันเอก รองศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิพันธ์ สุขสุเมฆ และ 3) พันโทหญิงนิลภา สุขเจริญ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม (trainee) จากหลากหลายองค์กร อีกจำนวน 14 คน
ในนามผู้จัดโครงการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการตรวจรับรองคุณภาพคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (National Ethics Committee Accreditation System of Thailand : NECAST) ระดับ 2 จะส่งผลให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ได้รับการรับรองคุณภาพคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย และงานวิจัยด้านการวิจัยในมนุษย์สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สืบไป