วันที่ 22 มกราคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.จันทนา วัฒนกาญจนะ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดโครงการตลาดนัดวัฒนธรรม ณ ลานอาคาร A6 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาริษา สุจิตวนิช ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร..เยาวภา บัวเวช เป็นผู้รับผิดชอบการจัดการตลาดในครั้งนี้
คณบดีฯ กล่าวแสดงความชื่นชมคณาจารย์ทุกท่าน นักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ที่ร่วมกันจัดโครงการตลาดนัดวัฒนธรรมในวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ การบริหารจัดการตลาดอย่างเป็นระบบ การให้ความร่วมมือ ร่วมใจ ในการพัฒนานักศึกษาสู่การเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ โดยเฉพาะการเปิดเวทีและพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ด้วยพลังความสามารถ การนำเสนอที่น่าสนใจ และคาดหวังให้นักศึกษา สาขานิเทศศาสตร์ พลิกโฉมการบริหารจัดการ และรูปแบบการจัดกิจกรรมให้มีความร่วมสมัย สืบสานศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินงานตามพันธกิจของคณะวิทยาการจัดการ ได้อย่างเหมาะสมและรอบด้าน ทั้งนี้ คณะวิทยาการจัดการ มีนโยบายให้ทุกสาขาจัดโครงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ในรูปแบบของบริษัท จำลอง (dummy company) ประกอบด้วย สาขาวิชาการตลาด การเงินและการธนาคาร นิเทศศาสตร์ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน คอมพิวเตอร์ธุรกิจ การบัญชี ธุรกิจระหว่างประเทศ และสาขาวิชาการจัดการทั่วไป เป็นสาขาสุดท้าย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เยาวภา บัวเวช ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดการตลาด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการตลาดนัดวัฒนธรรม มีดังนี้ 1) เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามให้อยู่คู่สังคมไทย โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการมีส่วนร่วม และหลักการบูรณาการในการทำงาน 2) เพื่อสร้างกระบวนการและส่งเสริมการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ให้มีสมรรถนะ พัฒนาทักษะการสื่อสารและความคิดสร้างสรรค์ ให้สามารถปฏิบัติงานได้จริง และ 3) เพื่อให้นักศึกษามีเวทีในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมในการพัฒนา คณะวิทยาการจัดการ สู่มหาวิทยาลัยสีเขียวผ่านโครงการตลาดนัดวัฒนธรรม ที่เน้นการใช้วัสดุจากธรรมชาติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เยาวภา กล่าวต่อว่า สำหรับตลาดของสาขาวิชานิเทศศาสตร์ จัดระหว่างวันที่ 22 – 26 มกราคม 2567 ใช้ชื่อตลาดว่า “โรงเรียนนิเทศวิทยา” เนื่องจาก Concept ตลาด ย้อนวัยเด็ก ด้วยการแต่งกายชุดนักเรียน และของที่ขายในตลาดจะเน้นของที่ขายหน้าโรงเรียน มีร้านจำหน่ายสินค้า จำนวน 12 ร้าน ได้แก่ 1)ร้านโซดา ซู่ซ่า (ขายอิตาเลี่ยนโซดา) Concept : ขายน้ำอิตาเลียนโซดา ที่กินแล้วจะซู่ซ่าไปทั้งตัว 2) ร้านก๊อบกรอบ (ขายผักทอด) Concept : ผักทอดกรอบมันก็ต้องก๊อบกรอบใช่ไหมฮะ…คุณครู!! 3) ร้านจีบปุ๊บติดปั๊บ (ขายขนมจีบ) Concept : ขายขนมจีบ เพราะหวังจีบคุณให้ติด จีบแล้วจบ (การขาย) 4) ร้านห้าป่าช้า (ขายวุ้น) Concept :ในเขตโรงเรียนมีเรื่องเล่าแปลกๆ มากมายและได้ข่าวว่ามีดิน 5 ป่าช้าเป็นส่วนผสมที่ไล่ผีของโรงเรียน ดังนั้น เราจึงทำวุ้นห้าป่าช้าให้เป็นขนมมงคลให้กินเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย และได้สนุกกับรสชาติของวุ้นห้าป่าช้า 5) ร้าน มะแพ้วแผว (ขายมะพร้ามเผา) Concept : มะพร้าวที่ไม่ได้มีดีแค่น้ำ แต่ยังมีดีที่เนื้อหอม หวาน อร่อย 6) ร้านชิกกี้ ชิกเก้น Concept: ไก่ทอด ไม้ละ 10 บาท ย้อนวัยให้นึกถึงอาหารหน้าโรงเรียน 7) ร้าน ดิบเถื่อน/ไอศรีมแท่ง Concept : เป็นร้านขายไมโลดิบ แก้วละ 20 บาท เพียงแค่คุณจิบก็ทำให้คุณย้อนเวลาวัยมัธยมได้ในอึก!!!เดียว เพราะร้านใส่ไมโลสูตรรถโรงเรียน 8) ร้านบึ้มเบิ้ม สดสด Concept:น้ำตาลสดวุ้นมะพร้าวหอมหวานชื่นใจ หน้าโรงเรียนไม่มีขายเพราะขายหลังวัด 9) ร้านเหลืองกรอบซุกไข่ Concept:ขายเกี๊ยวทอดห่อไข่นกกระทาและเกี๊ยวห่อหมูเด้งที่ขายหน้าโรงเรียนต้องเหนียว แต่ร้านขายอยู่หลังโรงเรียนเลยกรอบ 10) ร้าน ปัง ปินาศ Concept:ขายขนมปังปิ้งย้อนวัยเด็ก 11) ร้านทอดมันหลายใจเนื้อลำใยเต็มคำ Concept:อิ่มแล้วยังสดชื่นไปกับทอดมันเนื้อแน่นเด้งสู้ฟันและเนื้อลำใยชิ้นเบิ้มเย็นฉ่ำชื่นใจ และ12) ร้านแคปหมู-ครองแครง -วอฟเฟิล Concept : หวาน กรอบ ชอบจริง ๆ
การบริหารจัดการตลาดในครั้งนี้ สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ ขอขอบคุณ บริษัท เพชรเกษมพริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด สนับสนุนป้ายร้านค้าและดำเนินการติดตั้งให้ด้วยความเรียบร้อย ขอบคุณคณาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ทุกท่าน โดยเฉพาะ อาจารย์วินัย บุญคง อาจารย์ทิวาพร ทราบเมืองปัก ที่ช่วยดูแลในส่วนของ QR Code ขอบคุณคณาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและให้กำลังใจร้านค้าทุกร้าน ขอบคุณนักศึกษาหมู่เรียน 64/97 และหมู่เรียน 64/98 ที่มีความตั้งใจในการบริหารจัดการตลาดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ