ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 จัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายทีมนำการดูแลสุขภาพจิตในระบบสุขภาพปฐมภูมิเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เขตสุขภาพที่ 5 และโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรอบรู้สุขภาพจิตสำหรับเครือข่ายสื่อมวลชนเขตสุขภาพที่ 5 ระหว่างวันที่ 26-27 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมลองบีชชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้รับเกียรติจาก นางสาวรัชวัลย์ บุญโฉม ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และนางสาวลำไพร เฮ้าไกร หัวหน้างานยุทธศาสตร์และสื่อสารสุขภาพจิต กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายสมพงศ์ นาคพรมหัวหน้ากลุ่มงานวิชาการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System : DHS )
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการเครือข่ายสุขภาพที่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาสุขภาพอย่างเป็นเอกภาพในแต่ละอำเภอโดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงการบริหารจัดการระบบบริการปฐมภูมิอย่างมีคุณภาพและมีความสอดคล้องกับปัญหาสุขภาพในพื้นที่ อันจะส่งผลให้ประชาชนและชุมชนพึ่งพาตนเองมีขีดความสามารถในการจัดการปัญหาโรคประจำถิ่นและภัยสุขภาพให้ลดลงได้ ทั้งนี้มีการส่งเสริมเฝ้าระวังป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในชุมชนโดยใช้เครือข่าย 3 หมอ โดยหมอ 1 คือ อสม. หมอ 2 หมออนามัย และหมอ 3 แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน เข้ามามีส่วนช่วยในการดำเนินการเฝ้าระวังและส่งต่ออย่างเชื่อมโยง นอกจากนี้มีการนำเอาวัคซีนใจในชุมชน ซึ่งประกอบด้วย มาตรการที่ส่งเสริมให้ชุมชนมีความปลอดภัย (Safety) มีความสงบ (Calm) มีความหวัง (Hope) และการส่งเสริมให้ชุมชนอยู่ร่วมกันโดยมีความเข้าใจ ให้โอกาส (Care) ด้วยการใช้ศักยภาพชุมชน และใช้สายสัมพันธ์ในชุมชน หากชุมชนมีภูมิคุ้มกันก็จะส่งผลให้ประชาชนปรับตัวได้และใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถก้าวข้ามวิกฤตไปได้ โดยอาศัยเครือข่ายคณะกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านบริการสุขภาพจิตและจิตเวชให้มีประสิทธิภาพในระดับพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนโดยบูรณาการเป้าหมาย ทิศทางและยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนอย่างเป็นองค์รวม เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีพื้นที่เป็นฐานและประชาชนเป็นศูนย์กลาง นำไปสู่การสร้างเสริมให้บุคคล ครอบครัว และชุมชนมีสุขภาวะทางกาย จิตและสังคมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและเกิดความยั่งยืนสืบไป และนโยบายยกระดับการสื่อสารสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์
มุ่งเน้นให้เกิดระบบการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิตโดยใช้กลยุทธ์การพัฒนาสื่อสารสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพ สร้างและขยายเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสื่อสารความรู้สุขภาพจิต พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สามารถสื่อสารความรู้ด้านสุขภาพจิตในสถานการณ์ปกติและภาวะวิกฤตเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลสุขภาพจิตที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน สามารถนำข้อมูลสุขภาพจิตไปใช้ประโยชน์ และสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การมีพฤติกรรมสุขภาพจิต
ที่พึงประสงค์ มีทัศนคติที่ ดีต่อผู้ที่อยู่กับปัญหาสุขภาพจิต ผ่านกระบวนการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทันสมัยและเข้าถึงง่าย รวมทั้งสร้างกระแสเพื่อให้ความรู้และความเข้าใจด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ปัจจุบันพบว่าสื่อมวลชนสาขาวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์นิตยสาร รวมไปถึงสื่อสมัยใหม่ เช่น Facebook Twitter Instagram Youtube TikTok ที่เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนโดยเป็นสื่อกลางช่วยสร้างความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะสื่อมวลชนเป็นกลไกที่สามารถสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ให้เข้าถึงคนจำนวนมากได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 จึงได้จัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนการดำเนินงานสุขภาพจิตในระบบสุขภาพปฐมภูมิเขตสุขภาพที่ 5 (onsiteและ online) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานสุขภาพจิตในระบบสุขภาพปฐมภูมิ การถอดบทเรียนจากพื้นที่ที่มีการดำเนินการสำเร็จ เป็นแนวทางในการวางแผนการดำเนินงาน
ในปีถัดไป และโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงานสร้างความรอบรู้สุขภาพจิต โดยเครือข่ายสื่อมวลชน เขตสุขภาพที่ 5 เพื่อแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานสร้างความรอบรู้สุขภาพจิต ทั้ง 8 จังหวัด โดยเครือข่ายสื่อมวลชน เขตสุขภาพที่ 5 นำไปสู่การสร้างต้นแบบการดำเนินงานสร้างความรอบรู้แก่ประชาชน ต่อไป