จังหวัดนครปฐม จัดโครงการพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน (ณ สยาม@นครปฐม) เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในมิติวัฒนธรรม กระตุ้นจิตสำนึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้เกิดความรู้ และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในกลุ่มเด็ก เยาวชน

วันที่ 20 มิถุนายน 2561 ที่โรงเรียนวัดห้วยจรเข้วิทยาคม อ.เมือง จ.นครปฐม นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานเปิดโครงการพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน (ณ สยาม@นครปฐม) ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จังหวัด และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดโครงการดังกล่าว ขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในมิติวัฒนธรรม กระตุ้นจิตสำนึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและความรับผิดชอบร่วมกัน พร้อมทั้งขยายเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในกลุ่มเด็ก เยาวชน กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย นักเรียน และอาจารย์ จำนวน 140 คน

โดยนางฐิติรัตน์ เค้าภูไทย วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์และปัญหาของเด็กและเยาวชน ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการไหลบ่าของวัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างรวดเร็ว เด็กและเยาวชนไทยบางส่วนได้รับผลกระทบโดยตรง และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมตามวัย เสี่ยงต่อการกระทำผิดทางกฎหมาย รวมทั้งรักษาคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้เด็กและเยาวชนไทยเติบโตในท่ามกลางพื้นที่เสี่ยงหลากหลายรูปแบบนับตั้งแต่ พื้นที่ครอบครัว ที่มีความแตกแยก ความรุนแรง พื้นที่โรงเรียน ที่มีสภาพแวดล้อมด้วยหอพักที่ไร้ระเบียบ ร้านเหล้า ร้านเกม และเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเอง กลับเป็นพื้นที่เสี่ยงที่เต็มไปด้วยสภาพเสมือนที่มอมเมาเด็กและเยาวชน นอกจากนั้นพื้นที่ในชุมชนรวมถึง พื้นที่ทางสังคมที่ล้อมรอบตัวเด็ก ก็เต็มไปด้วยอบายมุขมากมาย ส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มที่จะกระทำผิดและตกเป็นเหยื่อ ที่นับวันยิ่งเพิ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยขาดคำแนะนำว่าสิ่งนั้นถูกต้องหรือไม่ โดยสังคมไทย พื้นที่ดีหรือพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมได้แสดงศักยภาพความสามารถอย่างจำกัด ซึ่งเด็กและเยาวชนเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ และเป็นต้นกล้าสำคัญที่จะเติบโตสร้างรากฐานและทิศทางของสังคมได้ สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีการเสวนารู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รู้เท่าทันสื่อ (ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี) “โพสต์ ไลค์ แชร์” อย่างไรจึงปลอดภัยและสร้างสรรค์ และกฎหมายที่ควรรู้ในการปฏิบัติงานเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตลอดจนการแสดงพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย

*****************************************************
ชุติมา ลีนุกูล/ข่าว/ภาพนิ่ง – ปัญจะ เอี่ยมประสพชัย/ภาพเคลื่อนไหว

Related posts