วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ผ่องศรี ศรีมรกต พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เยาวภา บัวเวช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดนครปฐมและคณะกรรมการสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จังหวัดนครปฐม เข้าร่วมการประชุมมหกรรมวิชาการฟ้าใส สถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ ณ ห้องพัชรกิติยาภา อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปีแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ในการนี้ มีสถานศึกษาที่เข้าร่วมถอดบทเรียนมหกรรมวิชาการฟ้าใส สถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ จำนวน 8 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ 100% และไม่จัดพื้นที่สูบบุหรี่เนื่องจากพื้นที่จำกัด) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ผ่องศรี ศรีมรกต เลขาธิการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ เป็นผู้ดำเนินรายการ
การดำเนินการโครงการสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่นั้น สถาบันใช้จุดแข็งของสถาบันในการรณรงค์ ขับเคลื่อน เช่น มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ชูความแข็งแรงด้านสุขภาพดี ภาพลักษณ์การเป็นผู้ตัดสินกีฬาที่มีความสมาร์ท จัดกิจกรรมที่ตอบโจทย์ผู้บริหาร เช่น กิจกรรม วิ่ง Fun Run ต้านบุหรี่ไฟฟ้า และมีความเชื่อว่า “แบบอย่างที่ดี มีค่ามากกว่าคำสอน” เนื่องจากผู้บริหารที่เกี่ยวข้องไม่มีท่านใดสูบบุหรี่ ส่วนสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ชูความงดงาม สุขภาพดีด้านเสียง กลิ่นบุหรี่ที่ไม่พึงประสงค์ในกิจกรรมการแสดง หากนักศึกษาไม่ปฏิบัติตนให้ปลอดจากบุหรี่ ก็ไม่สามารถไปร่วมงานแสดงทั้งภายในและต่างประเทศได้ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาขาดรายได้ ทั้งนี้ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์สามารถดำเนินการได้ทั้ง 18 แห่งทั่วประเทศ
ส่วนสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ก็มีแนวทางการดำเนินการภายในผ่านสื่อสังคมออนไลน์เช่น การจัดประกวดทำคลิป “วัยรุ่นรู้ทันควันบุหรี่” “คนรุ่นใหม่ หัวใจไร้ควัน” การจัดโครงการอาสาเพื่อนใจ ห่างไกลนิโคติน การจัดการให้คำปรึกษาและการส่งต่อสำหรับนักศึกษาที่ต้องการเลิกสูบ การสอดแทรกความรู้และพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าในทุกกิจกรรมของสถาบันการศึกษาและในการเรียนการสอน การจัดสถานที่สูบบุหรี่/การออกแบบพื้นที่สูบบุหรี่ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฯ การติดป้ายสถานศึกษาปลอดบุหรี่ การณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจและสร้างความตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้กับอาจารย์และนักเรียนเพื่อให้รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า เป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับนักศึกษา การให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจในการออกแบบสื่อและกิจกรรมด้วยตนเอง ผู้สูบบุหรี่อาสาเป็น Presenter รณรงค์การไม่สูบบุหรี่ การจัดระบบการร้องเรียนพบเห็นการสูบบุหรี่ ภายใต้สโลแกน SMILE SMART DON’T SMOKE การดึงกลุ่มวิศวกรสังคมเข้ามาร่วมและขับเคลื่อนไปสู่ชุมชนปลอดบุหรี่และขยายผลไปสู่จังหวัดใกล้เคียง และการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภายนอก/สถานประกอบกการ เพื่อสร้างความร่วมมือในการสร้างสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ ได้อย่างหลากหลายและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้นักศึกษามีแนวโน้มการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าลดลง ถึงแม้จะจำนวนไม่มาก ซึ่งเป็นความท้าทาย แต่ไม่เกินความสามารถ เพื่อนำเยาวชนและสังคมไทยสู่ความยั่งยืน
สำหรับปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของโครงการสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ ในภาพรวมประกอบด้วย ผู้บริหารระดับมหาวิทยาลัย ผู้บริหารระดับคณะ กองพัฒนานักศึกษาแกนนำนักศึกษา โดยการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการให้ครอบคลุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชมรมต่าง ๆ หน่วยงานที่รับ – ส่งต่อ และคลินิกให้คำปรึกษา นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยครอบครัว และความรัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญ เช่น เลิกสูบบุหรี่เพราะภรรยาตั้งครรภ์ เลิกสูบเพราะสุขภาพ เป็นต้น