วันนี้ (23 ธันวาคม 2565) รองศาสตราจารย์ ดร.จันทนา วัฒนกาญจนะ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการการพัฒนาข้อสอบวัดมาตรฐานความรู้ : สาขาวิชาเฉพาะ (The Exit Examination Test) เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ณ ห้อง 701 อาคารปฏิบัติการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์ ดร.อรพิณ พัฒนาผล กลุ่มวิชาวิจัยและวัดผลการศึกษา คณะครุศาสตร์ ในการเป็นวิทยากรบรรยาย
อาจารย์ ดร.อรพิณ กล่าวถึงขั้นตอนการสร้างข้อสอบ ต้องเริ่มจาก 1) การวิเคราะห์ผลลัพธ์การเรียนรู้ 2) วิเคราะห์ระดับพฤติกรรมและเนื้อหาที่ต้องการวัด 3) สร้างผังแบบทดสอบ 4) กำหนดลักษณะเฉพาะของข้อสอบ และ 5) การเขียนข้อสอบ นอกจากนั้น ยังอธิบายถึงการกำหนดลักษณะเฉพาะของข้อสอบ (Item specification) แนวทางการเขียนคำถามตามระดับพฤติกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ความจำ ความเข้าใจ การประยุกต์ใช้ การวิเคราะห์ การประเมิน และการสร้างสรรค์ จะมีลักษณะการเขียนคำถามอย่างไรโดยยึดหลักการเขียนคำถาม ประกอบด้วย 1) สั้น กระชับ ได้ใจความ ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย2) หลีกเลี่ยงข้อความที่มีคำปฏิเสธ ถ้าจำเป็นต้องมีข้อความที่เป็นปฏิเสธ ให้ขีดเส้นใต้หรือทำตัวหนา 3) ควรเขียนคำถาม โดยใช้รูปประโยคคำถาม 4) คำถามจของข้อสอบข้อหนึ่งไม่ควรแนะคำตอบของอีกข้อหนึ่ง ตามด้วยหลักการเขียนตัวเลือก ต้องไม่มีคำซ้ำกับคำถาม ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย ตัวถูกไม่ควรมีลักษณะถูกโด่ง ตัวลวงไม่ควรมีลักษณะผิดเด่น และหลีกเลี่ยงตัวเลือกประเภท “ถูกทุกข้อ” “ไม่มีข้อถูก” “ไม่มีคำตอบ” “สรุปไม่ได้” โดยเฉพาะนำมาใช้เป็นตัวถูก และปิดท้ายการขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพข้อสอบ ทั้งนี้ การตรวจสอบคุณภาพด้านความเที่ยงตรง ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญพิจารณาความสอดคล้องของข้อสอบกับจุดประสงค์ (แก้ไขข้อความ/การให้คะแนน/ การหา IOC พิจารณารายข้อ การทดลองใช้ การตรวจสอบคุณภาพรายข้อ เพื่อหาค่าอำนาจจำแนกความยาก หลังจากนั้น ทำการคัดเลือกข้อสอบที่มีค่าอำนาจจำแนก (0.20 – 1.00) ความยาก (0.20 -0.80) ตามเกณฑ์ เข้าคลังข้อสอบ