เขตสุขภาพที่ 5 รุกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ หลังพบผู้ป่วยสูงอันดับ 1 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง ปี 61 สปสช.จัดงบเฉพาะ หนุนค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าเชิญชวนคนไทยที่มีอายุ 50 – 70 ปีกว่า 1 แสนรายเข้ารับคัดกรองได้จากทุก รพ.สต. ขณะที่เครือข่ายหน่วยบริการและเครือข่ายวิชาชีพในพื้นที 8 จังหวัด ร่วมมือลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยบริการตรวจยืนยัน ตัดชิ้นติ่งเนื้อ(Polyp)เพื่อการรักษาในกลุ่มที่ตรวจอุจจาระแล้วพบความผิดปกติด้วยการส่องกล้อง(Colonoscopy)
ที่โรงพยาบาลนครปฐม เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 และนพ.วีรศักดิ์ ครองลาภเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม พร้อมด้วยผู้แทนเครือข่ายวิชาชีพ 8 จังหวัด เขต 5 ราชบุรี ร่วมแถลงข่าว “นวัตกรรมระบบคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ของเครือข่ายหน่วยบริการในจังหวัดนครปฐม” และมอบอุปกรณ์ตรวจคัดกรอง Fit test จำนวน 101,202 ชุด พร้อมลงพื้นที่ รพ.สต.สามควายเผือก อ.เมือง จ.นครปฐม ร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจในการเตรียมความพร้อมผู้ป่วยเพื่อรับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และซักซ้อมแนวทางส่งต่ออุจจาระและการแจ้งผลการคัดกรองแก่ผู้ป่วย
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ กล่าวว่า จากข้อมูลสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal cancer) เป็นมะเร็งระบบทางเดินอาหารที่พบมากที่สุด และเป็นมะเร็งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 3 พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยในระยะที่ 3 และ 4 เป็นระยะที่ต้องได้รับการรักษา ทั้งการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด การฉายรังสี โดยปี 2558 พบว่าค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีมูลค่ารวม 790.6 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้หากพบในระยะเริ่มต้น ดังนั้นในปี 2561 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้บรรจุสิทธิประโยชน์คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากรกลุ่มเสี่ยงอายุตั้งแต่ 50-70 ปี เพื่อให้เข้าถึงการคัดกรองและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยใช้งบประมาณจำนวน 111,306,800 บาท (2.28 บาท/ผู้มีสิทธิ)
ขณะนี้ มีหลายพื้นที่ได้เดินหน้าคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในประชากรกลุ่มเสี่ยงแล้ว โดยพื้นที่เขต 5 ราชบุรี ได้ดำเนินโครงการนำร่องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากรกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2560 เริ่มต้นด้วยใช้งบสนับสนุนจากงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค(PPA) เนื่องจาก เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญในพื้นที่ และสามารถลดความเสี่ยง อัตราผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้ ด้วยการค้นหา คัดกรองผู้ป่วยตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ซึ่งพื้นที่เขต 5 ราชบุรี พบมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสูงเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มโรคมะเร็ง ในปี 2561 นี้ จากงบคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่ สปสช.ได้จัดสรรจำเพาะ ส่งผลให้มีการคัดกรองประชากรกลุ่มเสี่ยงอย่างไรครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น อันมาจากความร่วมมือของเครือข่ายหน่วยบริการและเครือข่ายวิชาชีพในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลนครปฐมในฐานะแกนนำเครือข่าย ทำให้สามารถดำเนินการและได้ผลเป็นรูปธรรม นับเป็นต้นแบบการดำเนินงานนี้ในพื้นที่อื่นๆ
นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ กล่าวว่าจากการดำเนินโครงการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ปี 2558-2560 มีรายงานสรุปผลการคัดกรองประชากรกกลุ่มเสี่ยง อายุ 50-70 ปี ในพื้นที่จำนวน 39,105 ราย พบมะเร็งระยะ 0 หรือระยะก่อนเป็นมะเร็งจำนวน 8 ราย, ระยะที่ 1และ 2 จำนวน 61ราย และระยะที่ 3 และ 4 จำนวน 39 ราย นอกจากนี้ไม่ระบุระยะจำนวน 47 ราย รวมพบผู้ป่วยทั้งหมด 155 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของจำนวนประชากรที่เข้ารับการคัดกรอง
สำหรับในปี 2561 เขตสุขภาพที่ 5 ได้รับงบการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจาก สปสช.เขต 5 ราชบุรี จำนวน 8,670,926 บาท มีเป้าหมายการตรวจอุจจาระด้วยวิธี Fit test จำนวน 101,202 ราย การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ colonoscopy จำนวน 2,013 ราย การส่งตรวจชิ้นเนื้อ 698 ชิ้น ในวันนี้(22พค.61) เขตสุขภาพที่ 5 จึงได้จัดให้มีการประชุมสนับสนุนการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักให้กับหน่วยบริการทุกระดับตั้งแต่ระดับจังหวัดถึง รพ.สต. ในเขตสุขภาพที่ 5 เพื่อสร้างความร่วมมือและจัดระบบการคัดกรองในพื้นที่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการคัดกรองและดูแลรักษาที่ผ่านมา
ด้าน นพ.วีรศักดิ์ ครองลาภเจริญ กล่าวว่า ในการคัดกรองประชากรกลุ่มเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพื่อให้เกิดเข้าถึงบริการคัดกรอง นอกจากการดำเนินงานโดยโรงพยาบาลในระดับจังหวัดแล้ว ยังมี รพ.สต.ร่วมเป็นเครือข่ายสำคัญในการค้นหาประชากรกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่และทำการคัดกรองเบื้องต้น อาทิ การณรงค์เชิญชวนเบื้องต้น การให้คำปรึกษาแนะนำ การเชิญชวนรับการตรวจและเก็บอุจารระ รวมถึงการเตรียมพร้อมของผู้ป่วยในการรับคัดกรองและการส่องกล้อง เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา รพ.นครปฐมและรพ.ต่างๆในเขตสุขภาพที่ 5 ได้ร่วมกับ รพ.สต.เครือข่าย ส่งผลให้มีประชากรกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้ายและอัตราการเสียชีวิต ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้