วันที่ 26 มิถุนายน 2565 ที่วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรทางการแพทย์ ไอสยาม ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้จัดให้มีพิธีลงนาม ความร่วมมือ ส่งเสริมสนับสนุน ศึกษาวิจัยและใช้ประโยชน์จากกัญชา
มีนายแพทย์ เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน พร้อม นายยงยุทธ สวนทอง ปลัดจังหวัดนครปฐม ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายพัฒนพงษ์ สร้อยอินทรากุล นายอำเภอสามพราน โดยมี ดร.ณัฏฐวุฒิ เอี่ยมอินทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรทางการแพทย์ ไอสยาม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้ ร่วมด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวม 50 หน่วยงาน พร้อมกันนี้ นายแพทย์ เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรุงก๋วยเตี๋ยวเป็ด ใส่ใบกัญชา โชว์ให้สื่อมวลชนและผู้ที่มาร่วมงานได้เห็น ใบกัญชาสามารถรับประทานสดได้
ทางด้านนายแพทย์ เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ยังได้กล่าวว่า สิ่งสำคัญของกัญชาที่ต้องระวัง คือ ช่อ–ดอก ซึ่งจะมีผลต่อจิตร–ประสาทได้ ส่วนการนำไปใส่ขนมอบ กรอบ เช่น คุกกี้ บราวนี่ เมื่อรับประทานแล้ว อาจจะมีเมาหรือหลับได้ เนื่องจากขนมดังกล่าว จะต้องผ่านขบวนการอบ ที่มีทั้งความร้อนและน้ำมัน
ส่วนการกินใบกัญชาสด กินได้ ไม่มีปัญหา เนื่องจากในใบสด มีสาร THC น้อยมาก แต่หากนำไปใส่อาหาร ที่ผ่านขบวนการปรุงด้วยความร้อน มีน้ำมัน จะมีสาร THC (สารเมา) ออกมามากขึ้น เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว อาจจะส่งผลกระทบกับร่างกายได้ หากรับประทานมากเกินไป การรับประทานกัญชา ต้องใช้เวลาในการออกฤทธิ์ 1 – 3 ชั่วโมง จึงไม่แนะนำให้ไปขับรถทางไกล เพราะอาจจะหลับกลางอากาศได้ จึงแนะนำให้รับประทานในช่วงที่อยู่บ้านหรือก่อนเข้านอน เพราะสารในกัญชา จะช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น
กัญชา ปัจจุบัน เป็นสมุนไพรควบคุมตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ไม่อนุญาตให้ใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือ สตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ระหว่างให้นมบุตรเนื่องจากในกัญชา มีสารบางอย่าง ที่ส่งผลต่อระบบประสาท ส่วนร้านค้าที่นำกัญชาไปผสมอาหาร ต้องแจ้งให้กับลูกค้าทราบ เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดกับผู้บริโภค รวมถึงผลข้างเคียงอื่นๆ
หลังจากที่รัฐบาลเปิดเสรีด้านกัญชา ก็มีบางคนนำกัญชามาสูบในที่สาธารณะ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เพราะกฏหมายห้ามสูบในสถานที่สาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน20,000 หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ หากสูบในบ้านตัวเอง จะต้องไม่ส่งผลกระทบกับข้างบ้าน หรือส่งผลกระทบต่อคนในบ้าน ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
ดร.ณัฏฐวุฒิ เอี่ยมอินทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรทางการแพทย์ ไอสยาม เปิดเผยว่า ไอสยาม ปลูกกัญชาเพื่อนำช่อดอกส่งกระทรวงสาธารณสุข ผลิตน้ำมันกัญชาให้กับผู้ป่วยทั่วประเทศ ปัจจุบัน เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ให้กับผู้สนใจ สามารถ walk in เข้ามาหาความรู้เพิ่มเติมได้ตลอด ตั้งแต่ 9.00 ถึง 17.00 น ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคน สามารถนำสมุนไพรกัญชาไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด พร้อมแนะนำวิธีการปลูก การดูแลรักษา แบบไม่ใช้สารเคมี ส่วนการปลูก ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกได้ ไม่ยากอย่างที่คิด แต่แนะนำให้ซื้อต้นไปปลูก เลือกอายุประมาณ 2 สัปดาห์ขึ้นไป สูงประมาณ 15 เซนติเมตร เนื่องจากการเพาะเมล็ด มีปัจจัยสำคัญหลายอย่าง อาจจะไม่ประสบความสำเร็จได้ โดยช่วงแรก แนะนำให้ปลูกในที่มีแสงรำไรประมาณ 1 เดือน ค่อยนำออกมาปลูกในที่อุณหภูมิปกติ อายุ 4 เดือน ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลปะโยชน์ได้ สามารถนำไปทำเป็นน้ำชาดื่มเพื่อสุขภาพ หรือจะนำไปเป็นส่วนผสมของอาหาร แนะนำให้ 1 ใบต่อ 1 เมนู หรือไม่เกิน 5 ใบต่อ 1 มื้ออาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่อันตราย
ด้วยเหตุนี้ วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรทางการแพทย์ ไอสยาม จึงได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ระหว่าง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กับ วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรทางการแพทย์ ไอสยาม เพื่อประกอบการขออนุญาตผลิต(ปลูก)กัญชา ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งวิสาหกิจชุมชนฯ ได้ดำเนินการเตรียมพื้นที่ปลูก เตรียมสถานที่ปลูก ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นมา โดยการเตรียมพื้นที่ปลูกนั้น ต้องสอดคล้องตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดไว้ เช่น ต้องไม่ปลูกพืชกัญชาปนกับพืชชนิดอื่น หากปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ต้องไม่มีสารเคมี ไม่มียาฆ่าแมลง ไม่มีโลหะหนัก ปนเปื้อน
โดยวัตถุประสงค์ของการทำข้อตกลงความร่วมมือ กับผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขพร้อมหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน สถานศึกษา กว่า40แห่ง เพื่อส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการประกอบกิจการด้วยการผลิต การบริการ การแปรรูป เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนา การเรียนรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพร และพัฒนาการปลูกกัญชาทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์
ส่งผลผลิตช่อดอกกัญชาที่มีคุณภาพให้กับคลังวัตถุดิบกัญชาของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข นำส่วนของกัญชาที่ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มาใช้ประโยชน์
สร้างเครือข่ายในการเรียนรู้จากการศึกษาวิจัยกัญชากับหน่วยงาน และสถาบันการศึกษา เผยแพร่และบูรณาการองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยกัญชาที่ได้รับการร่วมมือกับหน่วยงาน และสถาบันการศึกษา ให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด
รวมทั้งส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชาจากการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสุขภาพ(WHAT : Wellness Health Agriculture Tourism)