วันที่ 1 มีนาคม 2565 จากการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องของ AIS 5G กับ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหิดล ในการพัฒนารถMobile Stroke Unit หรือ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา ด้วยการยกระดับศักยภาพการทำงานของฟังก์ชันและอุปกรณ์ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่าย 5G ทั้งคุณภาพของสัญญาณ และความครอบคลุมของพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมต่อขั้นตอนการทำงานทั้งระบบได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันดียิ่งขึ้น สร้างโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม เพราะมาตรฐานเวลาที่แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาได้อย่างเหมาะสม ทันท่วงที กับอาการและความรุนแรง คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การรักษาโรคนี้ประสบผลสำเร็จ และด้วยความตั้งใจร่วมกันในครั้งนี้ทำให้มีรถ Mobile Stroke Unit ที่พร้อมในการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรวมแล้ว 5 คัน ซึ่งทยอยกระจายการให้บริการในภูมิภาคต่างๆ ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศAIS กล่าวว่า “เป้าหมายหลักของ AIS ตลอดระยะเวลาช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเดินหน้าด้วยงบลงทุนกว่า 30,000 – 35,000 ล้านบาทในทุกปี เพื่อพัฒนาโครงข่ายอัจฉริยะ5G ให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีความสามารถในการยกระดับการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ภาคสาธารณสุข ผ่านการคิดค้นบริการดิจิทัลและโซลูชันส์ที่สามารถสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในมิติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาเราได้ทำงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการร่วมกันพัฒนารถMobile Stroke Unit รถพยาบาลที่มีความสามารถในการช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล ผู้ช่วยโรคหลอดเลือดสมอง”
โดย AIS ได้ร่วมกับคณะทำงาน พัฒนาอุปกรณ์ภายในรถเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและกระจายสัญญาณ อาทิ 5G CPE ที่รองรับสัญญาณการแจ้งเหตุได้อย่างรวดเร็ว การเพิ่มคุณภาพของสัญญาณการส่งภาพจากกล้องภายในรถ หรือแม้แต่ภาพCT Scan ที่มีความจำเป็นต้องส่งขึ้น Cloud อย่างเร็วที่สุด เพื่อให้ทีมแพทย์ได้วินิจฉัยรวมถึงประเมินอาการระดับความรุนแรง หรือแม้แต่การปฐมพยาบาลเพื่อรักษาในเบื้องต้นได้ทันเวลา
ล่าสุดคณะทำงานได้ขยายผลความสำเร็จของรถ Mobile Stroke Unit ไปยังพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ อาทิ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี, โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม
รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและทุพพลภาพ ในปีที่ผ่านมา จากข้อมูลพบว่าทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกว่า 13.7 ล้านคน ซึ่งการจะรักษาคนไข้กลุ่มนี้ได้นั้นมีปัจจัยหลักอยู่ที่มาตรฐานเวลา หมายความว่า หากพบอาการเร็ว ได้รับการวินิจฉัยเร็ว ก็จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อัตราของโอกาสการหายก็จะมีเพิ่มขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์
โดยวันนี้รถ Mobile Stroke Unit ได้ให้บริการแก่ผู้ป่วยไปแล้วกว่า 700 ราย พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้จริง รถ Mobile Stroke Unit สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยได้ตั้งแต่อยู่บนรถโดยสามารถส่งผล CT Scan ไปยังทีมแพทย์เฉพาะทางให้สามารถทำการตรวจรักษาผ่านจอมอนิเตอร์ที่ถ่ายทอดภาพของผู้ป่วยในรถได้อย่างคมชัด เพื่อให้แพทย์สามารถแนะนำการรักษาได้ตรงตามอาการและความรุนแรงของโรคได้อย่างทันท่วงที ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยนวัตกรรม และดิจิทัลเทคโนโลยีอย่าง 5G เข้ามาเป็นตัวช่วยในการผลักดันการทำงานให้เกิดความต่อเนื่อง และสามารถช่วยชีวิตหรือลดอาการความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองได้จริง”
ผศ.ดร.พรชัย ชันยากร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพกระบวนงาน ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “สำหรับ Mobile Stroke Unit ถูกพัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง รพ.ศิริราช และพันธมิตร ผ่านการคิด การออกแบบ และการทดสอบที่เข้าใจJourney การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยตัวรถและระบบต่าง ผ่านการทดสอบสมรรถนะ มาตรฐานความปลอดภัยด้านยานยนต์ มาตรฐานความปลอดภัยด้านรังสี ติดตั้งและทดสอบระบบกู้ชีพระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine และสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารภายในรถกับโครงข่ายสื่อสารสัญญาณ 5G ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รถ Mobile Stroke Unit เริ่มทยอยให้บริการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยแล้วอย่างต่อเนื่อง จากพื้นที่ให้บริการในกรุงเทพฯ สู่การขยายพื้นที่การให้บริการไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ในขณะนี้มีรถ Mobile Stroke Unit พร้อมปฏิบัติการจำนวน 5 คัน และอยู่ระหว่างการผลิต ติดตั้งระบบ กำหนดแล้วเสร็จอีก 1 คันในปีนี้ โดยเป้าหมายการทำงานของเราไม่เพียงแค่คิดค้นนวัตกรรมด้านสาธารณสุขเพื่อยกระดับมาตรฐานวงการสาธารณสุขไทยให้เป็น Medical Tech เท่านั้น แต่เรายังมองถึงความยั่งยืนในการช่วยเหลือชีวิตของผู้ป่วย ที่สามารถลดอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตของคนไทยได้”
รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า “ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ แม้ว่าจะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่อาจทำให้เกิดความพิการในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลศิริราชเล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ จึงได้ริเริ่ม ‘โครงการนำร่องการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันโดยหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่โรงพยาบาลศิริราช’ โดยเราได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการร่วมกันพัฒนาเครือข่ายการรับ–ส่งผู้ป่วย รวมทั้งเปิดโอกาสใหม่ ๆ ของ การพัฒนาระบบให้บริการด้านการรักษาพยาบาลทางไกล ให้เอื้อต่อการให้ปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน อันนำมาสู่การลดอัตราการเสียชีวิตหรือพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน และเป็นแบบอย่างให้แก่องค์กรแพทย์อื่นๆ ได้ร่วมดำเนินการต่อไป”
กล่าวโดยสรุปได้ว่า ขณะนี้คณะทำงานได้ขยายผลความสำเร็จของรถ Mobile Stroke Unit ไปยังพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ อาทิ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึงจ.ราชบุรี, โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม ด้วยการยกระดับศักยภาพการทำงานของฟังก์ชั่นและอุปกรณ์ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่าย 5G ทั้งคุณภาพของสัญญาณและความครอบคลุมของพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมต่อขั้นตอนการทำงานทั้งระบบ ได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยในตอนนี้รถ Mobile Stroke Unit มีความพร้อมในการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรวมแล้ว 5 คัน ซึ่งจะทยอยกระจายการให้บริการในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศในปี 2565 นี้
นายวสิษฐ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า “การที่ AIS เดินหน้าขยายพื้นที่การให้บริการของ 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศไม่ได้ส่งผลดีในมุมของผู้บริโภคในการใช้งานเท่านั้น แต่ภาคส่วนต่างๆ ก็ยังได้รับประสบการณ์ และบริการใหม่ๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต หรือแม้แต่การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียม วันนี้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าดิจิทัลเทคโนโลยีสามารถทำให้ภาคสาธารณสุขของไทยมีศักยภาพทัดเทียมกับนานาชาติ นั่นจึงเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของ AIS ที่ต้องเป็นผู้นำในการดึงขีดความสามารถของโครงข่ายอัจฉริยะ 5G ออกมาเชื่อมต่อการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชน ลดอุปสรรคในการเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อท้ายที่สุดจะช่วยลดภาระของภาครัฐ และเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป”