วันนี้ (16 กันยายน 2564) เวลา 14.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting
โอกาสนี้ นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย กราบบังคมทูลรายงานถึงผลการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ในภารกิจกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมดำเนินการกับเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 7,772 แห่ง ตามยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่น
“ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้สนับสนุนงบประมาณเป็นเงินอุดหนุน ทั้งสิ้น344,000,000 บาท ให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลสำรวจประชากรสุนัขและแมว และจัดหาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มีผลการดำเนินงาน ดังนี้
– ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สุนัขและแมวที่ได้สำรวจพบ จำนวน 9,572,059 ตัว
– เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในการควบคุม
การเลี้ยงและการปล่อยสัตว์แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 6,291 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80.94
– จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับบุคลากรในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด อำเภอ และบุคลากรด้านสาธารณสุขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่นจำนวน 15,848 คน
– การประกวด “โครงการ Thailand Rabies Awards 2021” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลการปฏิบัติงานเป็นที่ประจักษ์ในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้คัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบระดับจังหวัดเรียบร้อยแล้ว จำนวน 28 แห่ง และจะได้คัดเลือกให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบระดับประเทศ จำนวน 14 แห่งประกอบด้วย เทศบาล จำนวน 8 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 6 แห่ง
– จัดให้มีสถานสงเคราะห์สัตว์และมีการพัฒนาคุณภาพเป็นต้นแบบและแหล่งศึกษาดูงาน อาทิ ศูนย์พึ่งพิงสุนัขจรจัด เทศบาลนครรังสิต จังหวัดปทุมธานี และศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดโครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ 2 Dog City , 1 วัด 1 ศูนย์พักพิง และ 1 โรงพยาบาล 1 ศูนย์พักพิง เทศบาลเมืองเขาสามยอด จังหวัดลพบุรี
การขับเคลื่อนในระยะต่อไป กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าตามหลักเกณฑ์การประเมินพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ร่วมกับกรมควบคุมโรคและกรมปศุสัตว์ต่อไป”